สายน้ำยังติดเชื้อ คพ.อัดฉีดงบเพิ่ม 200 ล้าน ต่อเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประลอง ดำรงค์ไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี จากการปนเปื้อนสารตะกั่วครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2563 ณ สำนักงานโครงการ หมู่บ้านคลิตี้บน พร้อมเปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูมาแล้ว 955 วันจากระยะเวลาที่ตั้งไว้ทั้งหมด 1,000 วัน ผลสรุปปลายเดือนพฤษภาคม คืบหน้า 78.82% 

โครงการฟื้นฟูลำห้วยเริ่มต้นปลายปี พ.ศ.2560 จะครบกำหนดสัญญาวันที่ 13 สิงหาคม ปีนี้ ภารกิจหลักคือดูดตะกอนปนเปื้อนหางแร่ตะกั่วจากกิจกรรมโรงแต่งแร่เมื่อยี่สิบก่อนออกจากลำห้วยเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ปัจจุบัน ได้ตะกอนแล้วสิ้น 5,400 ตัน จากเป้าหมาย 40,000 ตัน

“โครงการทำไม่เสร็จใน 3 ปีเพราะเป็นปัญหาสะสมมานาน บริษัทแร่ได้ทิ้งแร่ในพื้นที่กว่าหลายสิบปี จะให้แก้เสร็จเลยเป็นไปไม่ได้ ผมยืนยันว่า พวกเราทำงานอย่างโปร่งใส แต่ยอมรับว่ามีความผิดพลาดที่พร้อมแก้ไข” ประลอง กล่าว

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีครั้งที่ 29 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

เขาชี้ว่า โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะเป็นครั้งแรกของไทยที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนขนาดใหญ่เช่นนี้ ระหว่างปฏิบัติงาน พบกองกากแร่ตะกั่วและดินปนเปื้อนที่ตกหล่นจากการสำรวจหลายจุด เช่น ตะกอนบนบกใกล้บริเวณเหมืองแร่เดิมและใกล้พื้นที่อยู่อาศัย จึงได้ดำเนินการขุดออกแล้วกว่า 8,000 ตัน เพื่อนำไปปรับเสถียรแล้วส่งฝังกลบ

นอกจากนั้น ยังพบอุปสรรคหลายอย่างหน้างาน สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่โครงการไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านได้ ต้องชะงักการทำงานกว่าสองเดือน รวมถึงขั้นตอนขุดดินเพื่อสร้างหลุมฝังกลบตะกอนพบหินถึง 90% จากที่ประเมินไว้ 50% จึงใช้เวลานานขึ้น

วิธีฟื้นฟูคือดูดตะกอนจากลำห้วยขึ้นมาใส่ถุง Geotextile ซึ่งซ้อนทับกันเพื่อให้น้ำสะอาดไหลออก ทิ้งตะกอนไว้ข้างในถุง ณ จุดฟื้นฟูบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง มิถุนายน พ.ศ.2563 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ตามข้อกำหนดการดำเนินงาน (TOR) หากดำเนินการฟื้นฟูล่าช้ากว่าแผน บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับจ้างฟื้นฟูด้วยงบประมาณ 450 ล้านบาท จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 0.05% ของมูลค่าโครงการ คิดเป็น 200,000 บาทต่อวัน ทว่าด้วยเหตุไม่คาดคิดต่างๆ กรมควบคุมมลพิษในฐานะผู้ว่าจ้างจะผ่อนผันค่าปรับเพื่อช่วยเหลือ

“เราเห็นผลชัดเจนว่าความเป็นอยู่ชาวคลิตี้ดีขึ้น สัญญาณโทรศัพท์และถนนหนทางพัฒนา ที่สำคัญค่าตะกั่วเฉลี่ยในเลือดชาวคลิตี้โดยรวมมีแนวโน้มลดลงหลังจากโครงการฟื้นฟู”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยว่าจะนำเรื่องต่ออายุโครงการฟื้นฟูระยะสองเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร 24-25 มิถุนายนนี้ เพื่อขอเบิกงบจำนวน 200 ล้านบาทสำหรับดำเนินการต่อในปีพ.ศ. 2564

สุเมธ เลาคำ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการและเทคโนโลยี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ชี้แจ้งว่า จะดำเนินการดูดตะกอนจากห้วยคลิตี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนและหยุดช่วงฤดูฝนเพราะเป็นฤดูน้ำหลากทำงานยากและอาจอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างนั้นจะเน้นกำจัดตะกอนบนบก สำหรับโครงการระยะสองจะเน้นเอาตะกอนขอบตลิ่งซึ่งมีค่าตะกั่วสูงออกเพื่อไม่ให้ชะลงแหล่งน้ำซ้ำรอย รวมถึงตะกอนบนดินใกล้พื้นที่อยู่อาศัย

ด้านชาวบ้านในพื้นที่ นิติพล ตันติวานิช ผู้ใหญ่บ้าน แสดงความเห็นด้วยต่อการฟื้นฟู

“ถึงต่างประเทศจะทำอะไรแบบนี้มานาน แต่มันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เราไม่รู้ว่าแผนที่เขียนมาอันไหนผิดถูกหรือเปล่า  พอปฏิบัติหน้างานแล้วค่อยรู้ปัญหา อย่างน้อยการฟื้นฟูทำให้เราเห็นเชิงปริมาณว่าตะกอนที่มีตะกั่วปนเปื้อนมันไปอยู่ในถุงแล้วถูกส่งไปฝังกลบ”

โครงการฟื้นฟูดำเนินการท่ามกลางความกังวลของสมาชิกไตรภาคีบางส่วน ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างและหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี  ได้ยื่นหนังสือแก่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สะท้อนข้อห่วงกังวลต่างๆ ของชาวคลิตี้ล่าง เช่น ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานฟื้นฟูลำห้วย เนื่องจากชาวบ้านคลิตี้ล่างบางส่วนที่ทำงานดูดตะกอนจากห้วยต้องแช่ในน้ำทั้งวันและขาดชุดป้องกันเหมาะสม บางรายมีอาการผื่นคัน นอกจากนี้เธอเรียกร้องให้ผู้ประกอบโครงการชี้แจ้งทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่การสร้างฝายดักตะกอนทับที่ทำกิน

พร้อมกันนั้น เธอได้ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะของผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในคณะกรรมธิการไตรภาคี ซึ่งเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบโครงการแสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินงานสอดคล้องกับหลัก TOR และเปิดให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างมีส่วนร่วมเก็บข้อมูลกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยมากยิ่งขึ้น

ถุงเก็บตะกอนดูดจากลำห้วยและตะกอนขุดบนบกจะถูกนำมาฝังที่หลุมฝังกลบขนาดใหญ่ปูพื้นด้วยวัสดุหลายชั้นเพื่อป้องกันการรั่วซึม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ปัญหาลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียงปนเปื้อนสารตะกั่วดำเนินมานานกว่า 40 ปี เมื่อพ.ศ.2518 ชาวบ้านสังเกตพบว่าโรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ได้ปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องศาล ผลพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูแทนบริษัทตะกั่วฯ ที่เพิกเฉย โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมดกับบริษัทฯ ผู้ก่อมลพิษ ทางหน่วยงานรัฐจึงได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการฟื้นฟู

ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2563 ชาวบ้านคลิตี้ล่างส่วนหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ตรวจสอบและระงับการฟื้นฟูที่ไม่ปฏิบัติตามหลักชั่วคราว ขณะเดียวกัน 27 เมษายน ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดประชุมหารือและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยต่อไป

รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ย์ “สี่สิบปี คลิตี้สีขุ่น” ชวนผู้อ่านฟื้นฟูความทรงจำคดีสิ่งแวดล้อมครั้งประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับช่วงเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ติดตามปัญหาการปนเปื้อนสารพิษที่ยังสืบเนื่องสู่ปัจจุบัน

ที่มา: greennews

นักวิจัย ม.นเรศวร แนะตรวจสารพันธุกรรม COVID-19 ในน้ำเสียของสิ่งปฏิกูล

ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถิติการติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ของไทยในแต่ละวันค่อนข้างคงที่ ขณะที่หลายจังหวัดรวมถึงพิษณุโลกไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มาหลายวัน คำถามคือเมื่อใดจะเปิดเมืองได้อีกครั้ง บทความในนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าสหรัฐอเมริกาต้องตรวจการติดเชื้อให้มากกว่าปัจจุบันอีกวันละ ๓ เท่า จึงจะกลับมาเปิดเมืองได้อีกครั้ง โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีอัตราการตรวจที่ ๑๐,๘๖๓ ต่อประชาการ ๑ ล้านคน ส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ ๑,๔๔๐ การตรวจต่อประชากร ๑ ล้านคน ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ ๗.๕ เท่า

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอีกหนึ่งทางเลือกในการเปิดเมือง นั่นคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาในน้ำโสโครกเพื่อคัดกรอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจทุกคนในจังหวัด ด้วยการตรวจน้ำโสโครก หรือน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ ในหนึ่งวันคนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ ๑๒๘ กรัมต่อคน และมีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ ๒๕ – ๕๐ ลิตรต่อคนต่อวัน โดยผู้ติดเชื้อนั้นมีรายงานว่า มีสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 สูงตั้งแต่ ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระถึง ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ซึ่งงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาตรวจเจอได้ต่ำที่สุด คือ ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย วิธีการตรวจใช้ RT-qPCR ปกติแบบที่ใช้ตรวจในคน ถ้าใช้ตัวเลข ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรเป็นค่าต่ำสุด และคำนวณจะพบว่า จ. พิษณุโลกซึ่งมีประชากรประมาณ ๘๖๖,๘๙๑ คน สามารถตรวจตัวอย่างน้ำโสโครกเพียง ๙๐ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่าอุจจาระของผู้ติดเชื้อมีสารพันธุกรรมของไวรัสที่ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร หรือ ๔,๒๖๗ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร ตัวอย่างน้ำโสโครกที่เป็นตัวแทนของทั้ง จ. พิษณุโลกยังน้อยกว่าการตรวจทุกคนในจังหวัด ประหยัดงบประมาณและเวลาอย่างมากมาย

นักวิจัยระบุว่า สามารถใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำแบบผสมรวมในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่เป็นตัวแทนของคน ๑,๐๐๐ คนได้ เช่น ถ้ามีคอนโด ๒๐๐ ห้อง มีคนอยู่ ๔๐๐ คน ให้เก็บตัวอย่างน้ำโสโครกรวมของคอนโดนั้น ๆ มาผสมกับคอนโดอื่นในบริเวณข้างเคียง ไล่ตรวจไปทีละโซนทีละพื้นที่ หรือหากมีจุดที่มีน้ำเสียรวมของตำบลหนึ่งไหลมารวมกันก็เก็บตรงจุดนั้นเป็นตัวแทนของตำบลนั้นได้ หากตรวจแล้วพบก็สืบหากันต่อไปโดยอาจจะต้องแยกตรวจน้ำเสียรายตึก รายคอนโด หรือโซนของหมู่บ้าน จะทำให้เข้าถึงตัวผู้ติดเชื้อได้ไวขึ้น ถึงขั้นนี้การดูประวัติการเดินทาง กิจกรรม และอาการทางสุขภาพร่วมด้วยน่าจะทำให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยที่ผู้ตรวจใส่ชุด PPE ก็เพียงพอแล้ว งานเก็บน้ำเสียจึงเป็นงานที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมภาค สิ่งแวดล้อมจังหวัด แม้แต่สถานีอนามัยก็สามารถทำได้ หากได้รับการอบรมพื้นฐานมา ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์จนไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้ว การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำโสโครกอาจช่วยให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราเฝ้าระวังการกลับมาของไวรัสด้วยหลักการและตรรกะแนวคิดเดียวกัน การตรวจน้ำเสียในโรงพยาบาลหรือโรงแรมที่มีขาจรจากต่างจังหวัดเข้ามาพักหลังเปิดเมือง ทำให้เราเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้ ในทำนองเดียวกันการตรวจน้ำโสโครกจากห้องน้ำในสนามบิน หรือแม้แต่จากห้องน้ำของเครื่องบินเองก็จะช่วยเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวัดอุณหภูมิแบบปัจจุบัน

ม.นเรศวร เก็บรักษามะม่วงได้นานกว่า 1 เดือน! สกสว. ช่วยชาวสวนส่งมะม่วงทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้มีผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดพรีเมียมที่สำคัญและทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมากทุกปี เนื่องจากมีสายการบินพาณิชย์ให้บริการจำนวนน้อย แต่มีค่าระวางเครื่องบินราคาแพง โดยขณะนี้ผลผลิตมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน ส่วนราคาขายภายในประเทศต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท จากราคาปกติกิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนประสบปัญหาขาดทุนอย่างมาก

จากผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณะวิจัยพบว่า เทคนิคการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน จากเดิมที่เก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน โดยถุงพลาสติก WEB ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการหายใจ และลดการผลิตเอทิลีน โดยยังคงรักษาคุณภาพมะม่วงให้อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภค

mango1310463

คณะวิจัยได้ทดลองส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน จำนวน 1.2 ตัน เพื่อยืนยันผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยเริ่มต้นจากคัดเลือกผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจคุณภาพความแก่ ทำความสะอาด และกระบวนการยืดอายุ ก่อนขนส่งมะม่วงโดยเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงประเทศญี่ปุ่น 20 วัน ผลการทดลองพบว่ามะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสด พร้อมจำหน่ายและยังคงรสชาติได้ดี เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ทั้งนี้ การขนส่งทางเรือสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า (ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ) โดยมีต่นทุนการขนส่งไม่เกิน 30 บาท/กิโลกรัม

ผศ. ดร.พีระศักดิ์จึงเสนอการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วยการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. โดยในเดือนเมษายน 2563 มีการส่งออกไปทางเรือแล้วจำนวน 20 ตัน และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ขณะที่มะม่วงมหาชนกจะขนส่งถึงท่าเรือโยโกฮามาในวันที่ 16-17 เมษายน 2563

“การขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอยู่รอด หากเกษตรกรหรือผู้ส่งออกรายใดต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือหากต้องการให้ประสานงานกับผู้ส่งออกและนำเข้าปลายทางในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อนักวิจัยได้ที่ 081-9713510 หรืออีเมล peerasakc@gmail.com

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

ม.นเรศวร มอบทุนจิตอาสารีไซเคิล ปันรัก ประจำปีการศึกษา 2563

ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต พร้อมด้วยหัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้นำนิสิตกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ที่ผ่านการคัดเลือกการรับทุนการศึกษา เข้ารับมอบทุนจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี จำนวน 10 ราย โดยกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ได้ดำเนินกิจกรรมคัดแยกขยะ ขยะรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และได้นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิลมาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ทำกิจกรรมจิตอาสา และนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน จัดขึ้นที่วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี ม.นเรศวร ร่วมกับ วช. และ กอรมน. จัดฝึกอบรมให้กับเครือข่ายปราชญ์ชุมชน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

นิสิต ม.นเรศวร ร่วมสิงห์อาสาลงพื้นที่ภาคเหนือ มอบเสื้อกันหนาวแก่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล

ในปีนี้สิงห์อาสาและเครือข่ายนักศึกษาจากหลายสถาบัน ระดมทีมงานลงพื้นที่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งมอบเสื้อกันหนาวถึงมือชาวบ้านในถิ่นทุนกันดาร ให้ไออุ่นกว่า 50,000 ตัว

โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่ ที่โรงเรียนบ้านห้วยสัมป่อย ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มสิงห์อาสา โดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี พร้อมด้วยนักศึกษาจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือรวม 11 สถาบัน ร่วมมอบเสื้อกันหนาวกว่า 1,000 ตัว นอกจากนี้ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาวและการดูแลสุขภาพช่องปากให้แก่ชาวบ้านและเด็กๆในชุมชน

ซึ่งหมู่บ้านห้วยส้มป่อย มีทั้งสิ้น 207 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมดประมาณ 700 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่าปกาเกอะญอ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกลำไยเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูงชัน และที่ราบเชิงเขา โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,200 เมตร เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์รวมถึงเป็นป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติออบหลวง และพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. จะประสบภัยหนาว อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในฤดูหนาวอยู่ระหว่าง 5-10 องศาเซลเซียส

นักศึกษาจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 100 คน จาก 11 สถาบัน ประกอบด้วย ม.แม่ฟ้าหลวง ม.ราชภัฏเชียงราย ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงราย ม.เชียงใหม่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงใหม่ ม.ราชภัฏลำปาง ม.ราชภัฏกำแพงเพชร ม.นเรศวร ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม และ ม.พะเยา ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

โดย ในช่วงฤดูหนาว ตลอดเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สิงห์อาสาและเหล่าคณะกรรมการเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา ได้ลงพื้นที่มอบเสื้อกันหนาวในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายพื้นที่ อาทิ เลย สกลนคร มหาสารคาม เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พะเยา เชียงราย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการรับประกันว่าพี่น้องในถิ่นทุรกันดารที่กำลังประสบภัยหนาวจะได้มีเสื้อกันหนาวสิงห์อาสาใส่คลายความหนาวรับไออุ่นตลอดช่วงฤดูหนาวนี้แน่นอน

ทั้งนี้ยังได้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ที่ขับเคลื่อนภารกิจลงพื้นที่ดูแลรักษาเรื่องสุขภาพของชาวบ้านและเด็กๆ ให้มีสุขภาวะอนามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ต่อเนื่องมานานกว่า 3 ทศวรรษ ก็จะเดินหน้าควบคู่ไปพร้อมกับการมอบเสื้อกันหนาวให้ไออุ่นอีกด้วย

ที่มา: sanook.com

รมว.พม.ร่วมมือพัฒนาชีวิตคนพิการและคุณแม่คุณพ่อวัยใสกับมหาวิทยาลัยนเรศวร

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ
โดยมี นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายธนสุนทร สว่างสาลี รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศาสตราจารย์พิเศษ  ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และนางสาวมารีน่า จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงความร่วมมือระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทั้งนี้เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านต่างๆ การพัฒนาอาชีพและศักยภาพสตรี อีกทั้งเพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว และการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว 
นายจุติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เนื่องจากนโยบายของกระทรวง พม. มุ่งหวังให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อยู่ดีมีสุขด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมคุณภาพ โดยมีพันธกิจในการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ เต็มตามศักยภาพมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างเสริมภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถของคนในการช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง ผ่านการสร้างศักยภาพและพัฒนาอาชีพที่สร้างสรรค์ อาทิ เชฟ บาริสต้า การปลูกผักสวนครัว เกษตรปลอดภัย และการเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและสตรี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการ และการส่งเสริมการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ  อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างเพศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยนเรศวร และเจตนารมณ์ของวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ ที่มุ่งกระจายโอกาสและความเสมอภาคให้กับประชาชน ด้วยการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  และนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการสตรีและครอบครัว (สค.) บูรณาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อพัฒนาโครงการหรือกิจกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนพิการและสตรี
โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จะสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ อาทิ องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ นิสิต และเครื่องมือ อุปกรณ์  เป็นต้น และวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทย และนานาชาติ จะให้ความร่วมมือในการสร้างหลักสูตรในการพัฒนาอาชีพและยกระดับศักยภาพคนพิการ พร้อมทั้งสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ อาทิ อาจารย์และผู้สอนที่มีประสบการณ์อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน  และการประเมินผลการฝึกทักษะวิชาชีพ เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

ม.นเรศวร ร่วมเสวนานำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (National Energy Trading Platform)

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ พร้อมด้วย ดร.ยอดธง ร่วมเสวนานำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (National Energy Trading Platform) ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบการแพทย์ระยะไกล เชื่อมโยง รพ.กับผู้ป่วย เข้าถึงการรักษาเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยนายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระสายเสียงโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันนำเสนอโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท
โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่  2) หวังเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาล ศูนย์แพทย์ในจังหวัดพิษณุโลกแบบครบวงจร เพื่อยกระดับการรักษาและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงทางการแพทย์ในประเทศไทย นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า จากปัญหาระบบทางการแพทย์ของประเทศไทยมีความขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ชนบทพื้นที่ห่างไกล เนื่องด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนกลาง และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมือง ส่งผลให้แพทย์ไม่มีเพียงพอและรับรองกับจำนวนผู้ป่วยในเขตพื้นที่ห่างไกล
ดังนั้น กทปส. เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการมอบทุน เพื่อทำโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบทโดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อลดช่องว่างทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัดความเร็วสูง ศักยภาพของเทคโนโลยีไร้สายสร้างจุดแข็ง ในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบแพทย์ทางไกลและให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ทุกเวลาแบบ Real Time สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูงโดย
ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับทุนสนับสนุน จาก กทปส. มีลักษณะคล้าย Tele Health รูปแบบครบวงจร มีแพทย์เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยและพยาบาลผ่าน Application เชื่อมต่อสำหรับแพทย์ โครงการดังกล่าวได้รับทุนครั้งแรกเมื่อปี 2557 ทำเป็นโครงการต้นแบบทดลองทั้งสิ้น 4-5 โรงพยาบาลในพื้นที่ ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลให้สามารถ เชื่อมโยง รับส่งข้อมูลรวมทั้งการเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วย ได้อย่างรวดเร็วซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูงจะเชื่อมต่อภาพ จากการรักษาให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรักษาผ่านระบบเชื่อมโยงด้านการโทรคมนาคมเข้าสู่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือทำการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทาง ทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ทุกพื้นที่ในประเทศ และเกิดความเท่าเทียม ในการเข้าถึงรักษาลดปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน
โดยการนำเอาเทคโนโลยีด้านการโทรคมนาคมดิจิทัลความเร็วสูงมาพัฒนาร่วมกับระบบทางการแพทย์โดยเกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยและประชาชนในประเทศอีกด้วย ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ยื่นขอทุนต่อเนื่องเพื่อขยายโครงการต่อไปในปี 2561 ในโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยี ที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัล ความเร็วสูงระยะที่ 2 เพื่อจะเชื่อมโยงโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด เป็นสิ่งที่เห็นถึงความสำเร็จของโครงการและการดำเนินการที่เห็นภาพเป็นประโยชน์ ในการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล สาธารณสุข ทั้งจังหวัด สถานีอนามัย และบุคลากร อย่างแพทย์ พยาบาลสู่การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าในอีก 2 ปีจะมีการขยายเพิ่ม
ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จะมารับช่วงต่อไปขยายผลในจังหวัดอื่นๆต่อไป ในอนาคตปี 2564 การขยายต่อยอดโครงการจะเป็นไปในส่วนของนโยบายของทางกระทรวง หากแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวสำเร็จ กทปส.เชื่อว่าจะช่วยในการรักษาโรคที่ไม่ได้รุนแรง ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ทางด้าน ศ.ดรไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยเครือข่ายโดยผ่านเครือข่ายดิจิตัลความเร็วสูง ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกลกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลใหญ่ ในพื้นที่เขตเมืองหรือกรุงเทพฯ
ปัจจุบันได้ทำการทดลองวางระบบและเชื่อมต่อการทำงานกับเข้ากับโรงพยาบาล ภายใต้การทำงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 8 แห่งโรงพยาบาลศูนย์อีก 2 แห่ง รวมแล้ว 10 โรงพยาบาล โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และนำโจทย์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ ซึ่งจัดการปัญหาที่ได้ทำการศึกษาคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้อยู่กับที่ มีการเดินทางอยู่ตลอดเวลาผู้ป่วยไม่สามารถที่จะรอได้ต้องการการรักษาอย่างทันที ดังนั้นระบบแพทย์ทางไกลที่ดีตอบโจทย์คือระบบโทรศัพท์ทางไกล หรือเรียกว่า โมบายแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟนที่สามารถให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมต่อ สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการและเชื่อมกับระบบประมาณ 289 แห่งจากในระยะแรกมี 13 แห่งแบ่งเป็นโรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 157 แห่งและโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย 132 แห่ง  
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของระบบการทำงานของโครงการได้พัฒนาและขยายผลโครงการระยะที่ 1 ถึงโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนา โดยผ่าน Application NUMED ซึ่งมีการพัฒนาฟังก์ชัน การเชื่อมต่อการ service บน Application โดยการจัดตารางเวรเพื่อให้การให้คำปรึกษาให้ฟังชั่นสามารถสนทนา (Chat) ที่ความสามารถส่งข้อมูลภาพและวีดีโอแบบกลุ่มได้ รวมถึงพัฒนาฟังก์ชั่นการค้นหาข้อมูลผู้ป่วยบน Application ด้วยการป้อนรหัส 13 หลักโดยได้พัฒนาระบบการศึกษาแบบแยกตามกลุ่มความเชี่ยวชาญของแพทย์ นอกจากนี้ในส่วนฟังก์ชันการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้คำปรึกษาโดยไม่ต้องเปิดเคส ระบบได้ทำการจัดเก็บ (BackUp Delta) และบริหารการจัดการข้อมูลจากระบบศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์มายังเซิร์ฟเวอร์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้สามารถใช้ข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้พัฒนาโดยการสร้างระบบ web Admin สำหรับผู้ดูแลและจัดการใช้งานให้กับโรงพยาบาลต้นสังกัดเป็นผู้ดูแล เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกข้อตกลง​ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ​ ร่วมกับ บริษัทกัลกุล​ เอ็นจิเนียริ่ง​ จำกัด​ (มหาชน)​ บริษัทผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจร

ศาตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี ได้เป็นเกียรติเข้าพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง​ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ​ ระหว่าง​ มหาวิทยาลัยนเรศวร​ กับบริษัทกัลกุล​ เอ็นจิเนียริ่ง​ จำกัด​ (มหาชน)​ บริษัทผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจร​ และธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีชั้นนำ วันที่ 25 กันยายน 2562 ณ SGtech

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin