ม.นเรศวร ร่วม วช. เผย พร้อมส่งสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 89 ออกสู่ตลาดปีหน้า

วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ” ดำเนินโครงการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี ณ สถานีเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์พ่อและสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2563 ทำให้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี อีกทั้งมีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงเหมาะแก่การนําไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยสายพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร จัดประชุมจัดทำแผนงานและงบประมาณโครงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด 2566

ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นประธานการประชุมจัดทำแผนงานและงบประมาณโครงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันพุธที่ 18 มกราคม 2566 ทั้งนี้ มีสถาบันอุดมศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง เข้าร่วมจำนวน 16 สถาบัน
—————————–
ณ ห้องประชุมเทาแสด อาคารศูนย์แสดงนิทรรศการ และการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมหาวิทยาลัยนเรศวร
อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ลงพื้นที่ต่อเนื่องพานิสิตมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

สภานิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับองค์กรกิจกรรมนิสิตส่วนกลางทั้ง 5 ด้าน จัดกิจกรรมโครงการบูรณาการการมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ปีที่ 3 ในระหว่างวันที่ 19-22 มกราคม 2566 ณ โรงเรียนวัดโพทะเล อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร โดยได้รับเกียรติจาก คุณศิริวรรณ กมลพัฒนะ ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ และท่านนายกสิทธิศักดิ์ ศรีสง่า นายกเทศมตรีตำบลโพทะเล และท่านผอ. ธเนศ โกวิทย์ ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมที่บูรณาการร่วมกัน ประกอบด้วย กิจกรรมด้านบำเพ็ญฯ ปรับปรุงทาสีอุปกรณ์เครื่องเล่น กิจกรรมด้านกีฬาฯ ปรับปรุงสนามวอลเลย์บอล จัดทำสนามเปตอง สอนเสริมทักษะกีฬาฟุตบอล กิจกรรมด้านวิชาการฯ สอนเสริมรายวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และจัดทำบอร์ด สื่อการเรียนการสอน กิจกรรมด้านศิลปะ สอนเสริมทักษะร้อง รำ เต้น กิจกรรมด้านคุณธรรมฯ กิจกรรมจัดทำป้ายความรู้สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม ทั้งนี้ มีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม 1 – ม 3 เข้าร่วมกิจกรรมกับพี่ๆ ม นเรศวรในครั้งนี้ด้วย

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมกับเทศบาลนครพิษณุโลก จับมือ สสส. จัดกิจกรรมสุขกลางเมือง เรื่องแรงบันดาลใจในวัยเยาว์

วันนี้(16 ม.ค.)เทศบาลนครพิษณุโลก ร่วมกับกลุ่มลานละมุน สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครพิษณุโลก เครือข่าย Young Phitsanulok Forum กลุ่มพิดโลกจัดเต็ม เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุข จ.พิษณุโลก สรรพสามิตพื้นที่พิษณุโลก บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.พิษณุโลก วัฒนธรรม จ.พิษณุโลก และสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด สุขกลางเมือง : เรื่องแรงบันดาลใจในวัยเยาว์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีการแสดงจากกลุ่มเด็กเยาวชน การออกบูธกิจกรรม การแสดงจากศิลปิน และการเสวนาในหัวข้อ “เด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ ร่วมปลูกดอกไม้ให้เมืองสองแคว”

ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า เทศบาลนครพิษณุโลกเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ ให้ประชาชนในพื้นที่ด้วยการผลักดันให้เกิดสวนสาธารณะ สวนสุขภาพถึงสามแห่งในเขตเทศบาล โดยหวังให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อน ออกกำลัง และให้เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการได้ใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมที่สนใจ

“เทศบาลในฐานะเป็นผู้ดูแล ผู้จัดการเมือง พยายามจัดการให้มีพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม การมีสวนสาธารณะเป็นทางเลือกแต่ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด กลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นอีกกลุ่มที่เราให้ความสนใจ ยอมรับว่าในช่วงแรกผู้ใหญ่อย่างเราไม่สามารถสื่อสารถึงความต้องการที่แท้จริงของเด็กได้ แต่หลังเกิดการมีสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครพิษณุโลกทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เทศบาลได้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของเยาวชนทั้งเรื่องกีฬาเอ็กซ์ตรีม อีสปอร์ต คอสเพลย์ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ทำให้เทศบาลสามารถสนับสนุนทั้งพื้นที่ อุปกรณ์ หรือมีแนวนโยบายที่ตรงกับความต้องการของเยาวชนได้มากขึ้น” ดร.เปรมฤดี กล่าว

นายจักรภัทร ชูสกุลพัฒนา ผู้ประสานงานเยาวชน YSDN พิษณุโลก ตัวแทนคณะผู้จัดงาน กล่าวว่า ตนและเพื่อน ๆ อยากเห็นจังหวัดพิษณุโลกและทุกจังหวัดมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้แด็ก เยาวชน ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ มีพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความสามารถ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และอยากให้ภาครัฐสนับสนุน การจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้ชื่องานสุขกลางเมือง : เรื่องแรงบันดาลใจในวัยเยาว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ เกิดการเรียนรู้ในเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลก ทั้งพื้นที่กายภาพ พื้นที่ความคิด พื้นที่สร้างสรรค์ และยั่งยืน โดยเหตุผลที่เลือกใช้สวนกลางเมืองพิษณุโลกเป็นสถานที่จัดงานเนื่องจากเป็นสวนสาธารณะที่เป็นสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมาย มีความปลอดภัย

“ผู้ใหญ่ทุกภาคส่วนในสังคมควรจะปรับมุมมองที่ว่า หาเพชรในตม เพราะเราไม่จำเป็นต้องไปหาเพชรในตม เพียงแค่ปรับสภาพตมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี และตมก็จะสร้างเพชรขึ้นมาได้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ถ้าสภาพแวดล้อมดี คนก็จะดีตามไปด้วย” นายจักรภัทร กล่าว

นางสาวศิวรินทร์ พูลวงษ์ (วรินทร์) ศิลปินแนวเพลงอินดี้ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นศิลปินรุ่นใหม่ และเป็นผู้ปกครองที่มีลูก อยากเห็นการมีพื้นที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์แบบนี้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้ทุกคนในครอบครัว สามารถทำกิจกรรมร่วมกันเกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การได้ออกไปทำกิจกรรมดี ๆ ในพื้นที่ดี ๆ จะทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

​ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำยวนการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า เด็กจำนวนมากในประเทศนี้อยู่ในครอบครัวที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลามากพอที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะชีวิตที่สามารถนำพาตัวเองให้รอดพ้นจากปัญหาสังคมที่เข้ามาคุกคามในหลายมิติ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ กิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้โดยง่าย

“เมื่อเด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มีก่อน จึงไม่สามารถที่จะจัดการหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองเหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็นได้ และถึงแม้ผู้ใหญ่จะเคยเป็นเด็กมาก่อนก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กได้ทุกเรื่อง การเปิดโอกาสให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากสุด” นางทิชา กล่าว

ที่มา: mgronline

ม.นเรศวร ร่วมวางแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบึงกาฬ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬ ว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคซ้ำซาก สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วน ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้ง ผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

ปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้น้ำรวม 92.529 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน 0.825 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และนอกเขตชลประทาน 8.494 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคพบว่า ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 20.274 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า จังหวัดบึงกาฬจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 22.715 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้น 2.441 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผ่านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การประปา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งหมดเท่ากับ 880.27 ตร.กม. และในรอบ 10 ปี จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งหมดเท่ากับ 237.264 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง หากมีการพัฒนาศักยภาพของบึง หนอง แหล่งน้ำต่างๆ ในจังหวัดบึงกาฬ อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ในฤดูแล้ง

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพจำนวน 8 แห่ง ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ ห้วยบังบาตร หนองเชียงบุญมา หนอนนาแซง บึงขามเบี้ย หนองผักชี หนองใหญ่ หนองสามหนอง และ หนองร้อน ซึ่งหากมีการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำทั้ง 8 แห่งตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้ แม้จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการน้ำทั้งจังหวัด แต่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน พบว่า มีระบบประปาหมู่บ้าน 574 หมู่บ้าน ไม่มีระบบประปา 43 หมู่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สร้างฝาย ระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา และขยายเขตประปา

ที่มา: dailynews

วช. หนุน “สทน. – ม.นเรศวร” เปิดตัวส้มโอ ฉายรังสี ก่อนส่งออกไปสหรัฐอเมริกา

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. และมหาวิทยาลัยนเรศวร แก่โครงการ “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของโครงการวิจัยและช่วยเผยแพร่กิจกรรมฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทราบอย่างทั่วถึง จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ครั้งที่ 20 (IMRP20) ขึ้น ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00-14.30 น. ณ ห้อง Air โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ หัวข้อหลักส่วนหนึ่งของการประชุมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉายรังสีเพื่อสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Irradiation Forum) โดยเป็นงานประชุมชั้นนำที่จัดขึ้นเป็นเป็นประจำทุก 2-3 ปี เพื่อให้นักวิชาการและผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีการฉายรังสีจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการและหารือในธุรกิจการฉายรังสีรวมไปถึงการสร้างเครือข่ายแก่กัน ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 350 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก

รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ทีมวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยเรื่องคุณภาพของมะม่วงฉายรังสี จนกระทั่งสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองให้ได้คุณภาพมาตรฐานสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และในปัจจุบันทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฏระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทำ dose mapping เพื่อเตรียมการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายของรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา ผลการทำ dose mapping ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 ขณะนี้กำลังรอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกามาร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรรับรองผลอีกครั้งโดยเร็วที่สุด จากนั้นผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ทันที 

โดยคณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo West 2023 ณ เมืองอนาไฮม์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วย
การจัดกิจกรรมแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ให้ต่างชาติได้รู้จักส้มโอผลสดของไทยให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถต่อยอดในทางธุรกิจต่อไป

ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การฉายรังสีโดยทั่วไปคือการเตรียมใส่กล่อง การฉายรังสี และขั้นตอนหลังการฉายรังสี การเตรียมใส่กล่องมันขึ้นอยู่ว่าส่งไปประเทศไหน และประเทศนั้นต้องการอย่างไร ในกรณีออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ต่างกัน ถ้าเป็นอเมริกาต้อง 9-10 ลูกต่อกล่อง ซึ่งขนาดกล่องจะขึ้นอยู่กับผลส้มโอ เมื่อได้กล่องตามที่อเมริกาต้องการแล้ว จึงนำเข้าฉายรังสี ขั้นตอนการฉายรังสีในขั้นตอนที่ 2 เป็นการฉายรังสีแกมมา electron beam และรังสีเอ็กเรย์ อเมริกาให้ฉายได้ทุกรังสี ขึ้นอยู่ที่เราจะใช้รังสีไหน แต่ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาให้ใช้รังสีแกมม่า ดังนั้นเมื่อเตรียมเสร็จก็จะใส่เข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีรังสีแกมมา ตรงนี้เป็นกระบวนการที่อเมริกาบอกว่าประเทศไทยจะต้องใช้รังสี 400 เกรย์ ถึงจะฆ่าเชื้อได้ หลังจากฉายรังสี สิ่งที่ต้องทำเลยคือนำออกจากเครื่อง และนำขึ้นรถเข้าห้องเย็น พร้อมส่งออกเลย ระหว่างการขนส่งห้ามเปิดเด็ดขาด ถ้าเปิดจะถูกตีกลับหมด

สำหรับ อาหาร ผลไม้ทุกชนิด ที่ได้ฉายรังสีจะมีตราดอกไม้สีเขียวอ่อน ที่เรียกว่า radura ต้องติดว่าให้ผู้บริโภครู้ว่าผ่านการฉายรังสีฆ่าเชื้อมาแล้ว

ที่มา: mgronline

วว. จับมือ ม.นเรศวร ผลักดันนำ “ผลงานผลิตภัณฑ์งานวิจัย” ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนผลักดันนำผลงาน/ผลิตภัณฑ์งานวิจัยต่อยอดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ รศ. ดร. ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการนำผลงาน ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปสู่กิจกรรมด้านบริการวิชาการ ต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบายและเชิงสาธารณะ สู่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โอกาสนี้ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. และ รศ.ดร.กรองกาญจน์ ชูทิพย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของ วว. ดังนี้ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) ศูนย์ความเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) สายการผลิตอาหารแปรรูป โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) และห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD) 

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งมีความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนางานวิจัย การวิเคราะห์ทดสอบ และการพัฒนาบุคลากร นิสิต และนักศึกษาระหว่างสองหน่วยงาน มาแล้ว ในปัจจุบันยังคงมีภารกิจที่คล้ายกันคลึงกันหลากหลายด้าน โดยเฉพาะงานด้านวิจัยและพัฒนา ที่เน้นการพัฒนาและยกระดับความสามารถผู้ประกอบการไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของภาคเหนือ โดยวางวิสัยทัศน์ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ (University for Entrepreneurial Society) ซึ่งตรงกับ วว. ที่มุ่งการพัฒนางานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพิ่มมากขึ้น คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชน ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน (Strengthening SMEs and communities through an innovation science and technology ecosystem for sustainability)

ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานจะมุ่งพัฒนาความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนี้ 
1. เพื่อร่วมกันส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ 
2. ร่วมกันใช้ประโยชน์ในเรื่อง ทรัพยากรและความสามารถตามภารกิจหลักของทั้งสองหน่วยงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การสนับสนุนการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน 
3. ร่วมกันใช้ความรู้ความสามารถ และองค์ความรู้ทางงานวิจัยของทั้งสองหน่วยงานนำมา สนับสนุนการพัฒนา และวิจัยของหน่วยงานภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานของรัฐ เพื่อบูรณการการทำงานและลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนร่วมกัน 
4. ร่วมกันพัฒนางานวิจัยคุณภาพสูง (Advance technology) เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ และภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม

“ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมดำเนินงานอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สำหรับการเยี่ยมชมหน่วยที่ให้บริการลูกค้าในระดับมาตรฐานสากลของ วว. ได้แก่ ICPIM, ALEC, FISP และ BioD ที่สามารถวิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการที่มาขอรับบริการ ให้ก้าวเข้าสู่การค้าขายกับตลาดโลกได้ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและการบริการดังกล่าว ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานและการเยี่ยมชมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้าง idea และ prototype ด้านงานวิจัยควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้”  …. ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ที่มา: mgronline

สทนช. ร่วมมือ ม.นเรศวร วางแผนสำรองน้ำต้นทุนในฤดูฝน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภัยแล้ง อย่างมีประสิทธิภาพ

สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 13 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท และในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตจำนวน 14.54 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 4.7 แสนล้านบาท (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, 2563) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ปัญหาสำคัญหลายประการของจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคไม่เพียงพอ และปัญหาคุณภาพน้ำ

แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และปัญหาอุทกภัย ถึงแม้ว่ามีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางโดยกรมชลประทานแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดภูเก็ตได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

โดย สทนช. ติดตามความก้าวหน้าและวางแผนสำรองน้ำต้นทุน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” “โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาและรักษาน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” ณ “สถานีผลิตน้ำคลองกะทะ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต” “ขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล” และ “โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ” โดยคาดว่าโครงการข้างต้น จะช่วยสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตได้กว่า 0.85 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและติดตามผลการการศึกษาของโครงการ ซึ่ง สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ด้านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ แนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองและจัดลำดับความสำคัญ แผนปฏิบัติการ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานศึกษาวางโครงการเบื้องต้น สำหรับโครงการที่มีความเร่งด่วน ตามแนวทางการแก้ปัญหาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน อย่างน้อย 6 โครงการ

จากการศึกษาพบว่า จังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 80.90 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งออกเป็น อ่างเก็บน้ำ 21.53 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ขุมน้ำและขุมเหมือง 21.02 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำขนาดเล็ก 9.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำบาดาล 27.11 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 87.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในปี 2570 และในปี 2583 คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำถึง 104.93 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ แหล่งน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ โดยเฉพาะความต้องการน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะมีความต้องการน้ำถึง 23.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 และ 33.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2580 หรือคิดเป็นร้อยละ 26.89 และ 31.62 ของความต้องการน้ำทั้งหมดต่อปี

พื้นที่ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” แหล่งผลิตน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

“การเพิ่มศักยภาพให้แก่การสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตในช่วงฤดูฝน เพื่อรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของจังหวัดภูเก็ตและของประเทศ จากการศึกษา ได้มีการวางโครงการเบื้องต้นแล้ว จำนวน 6 โครงการ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” นายสราวุธ กล่าว

โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต

ทางด้าน รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงภาพรวมแผนการดำเนินการจัดการน้ำพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต ว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักในการจัดการสำรองน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคือเรื่องของน้ำประปา ที่ทาง สทนช. ได้มีการวางนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำประปาไว้อุปโภค-บริโภค ได้อย่างเพียงพอ และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสูงสุดในการรองรังรับภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคในอนาคต

รวมไปถึงโครงการก่อสร้างสระน้ำแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะได้เสริมประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นแหล่งต้นทุนที่สำคัญในอนาคต ประกอบกับทาง สทนช. ได้มีแผนการดำเนินการดูแลป่าต้นน้ำ และดูแลในส่วนของคุณภาพการบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพสูงและลดการปนเปื้อน

คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. เยี่ยมชมขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล
คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. ติดตามโครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

นายนิธิเดช มากเกตุ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 แหล่ง จะเห็นได้ว่าแหล่งน้ำจากทั้ง 4 แหล่ง ค่อนข้างมีความแตกต่างกัน โดยส่วนตรงนี้จะมีทั้งกรมชลประทาน ที่ดูแลในพื้นที่ชลประทาน เข้าไปสำรวจหน่วยงานในท้องถิ่นที่มีแหล่งผลิตระบบน้ำประปาด้วยตัวเอง รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคที่ผลิตน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ โดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ยังไม่เคยรวบรวมมาไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ทาง สทนช. จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อรวมแผนหลักให้มีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน

โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

“ถ้าหากแผนงานทั้งหมดนี้ได้บรรจุอยู่ในที่เดียวกันแล้ว จะขับเคลื่อนได้อย่างไร โดยตามกระบวน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เราจะขับเคลื่อนผ่านอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ในตอนนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ตัวแผนบูรณาการที่จะทำต่อไปก็จะเป็นแผนอีก 15 ปีถัดมา ว่าภายใน 15 ปีจะเกิดอะไรขึ้นกับภูเก็ต และในอีก 15 ปีจะเป็นอย่างไร ส่วนนี้เราจะนำแผนมารวบรวมและวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม และในพื้นที่ เพื่อทำแผนนำเสนอต่ออนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต และเสนอไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้อนุมัติแผน เพราะฉะนั้นแผนทั้งหมดจะขับเคลื่อนโดยผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ อย่างถูกต้อง และเมื่อมีการบูรณาการน้ำกันแล้วก็จะสามารถตอบคำถามได้ว่า ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วเพียงพอหรือไม่เพียงพออย่างไร ซึ่งการดำเนินการต่อไปก็จะมีประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อพิจารณาข้อมูลใน 4 พื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ เข้ามาให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อทำให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งขึ้นก่อนที่จะดำเนินการแผนต่อไป” นายนิธิเดช กล่าว

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

มน.จับมือ มช. สร้างความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และผู้บริหารคณะฯ ให้การต้อนรับ เพื่อสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา พรัอมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้และพัฒนาเครือข่ายด้านการวิจัย ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพัฒนาวิชาการฯ และคณะ ณ ห้องบัวเรศ คำทอง ชั้น 5 สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

มน. นำร่อง บางระกำ และเนินมะปราง วิจัยแก้ไขปัญหายากจน ต่อยอดอาชีพของชาวบ้านแบบยั่งยืน

วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์(บ้านสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัวโครงการ “การศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ระยะที่ 2” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนในพื้นที่ 2 ตำบลของ ได้แก่ ต.วังอิทก และ ต.ชุมแสงสงคราม ของ อ.บางระกำ และ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง  โดยเฉพาะ อ.บางระกำ ได้ศึกษา จำนวน 2,000 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักยภาพในการประกอบอาชีพตรงตามที่ผู้จ้างงานต้องการ

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ภายใต้แผนงาน ริเริ่มสำคัญ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ คือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนที่ถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งมีระบบและกลไกในการส่งต่อคนจนไปยังหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนค้นหา และพัฒนานวัตกรรม การแก้ไขปัญหาความยากจนต่างๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนจนในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวว่า สำหรับโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของภาคเหนือตอนล่าง ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการวิจัยและรับผิดชอบ จังหวัดพิษณุโลก ในภาคเหนือตอนล่าง โดยได้เริ่มในระยะนี้เป็นระยะที่ 2  ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ทาง บพท. ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษาได้ตระหนักถึงความยากจนของประชาชน จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการได้เข้ามาโดยนำเอากลไกต่างๆเข้ามาพัฒนาคนจนในรูปแบบต่างๆ โดยทั่วประเทศมี 10 จังหวัดนำร่อง จ.พิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง เพียงจังหวัดเดียวที่ได้รับการจัดทำการวิจัย ซึ่งเราทำสำเร็จแล้วในเฟสที่ 1 โดยเลือก อ.บางระกำ และ อ.เนินมะปราง เป็น อำเภอนำร่องในการพัฒนาอาชีพของประชาชนที่มีความยากจนขึ้นมา ซึ่งหลังจากการได้ทำการสำรวจร่วมกับทางจังหวัดแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าความยากจนของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก ดีขึ้น ที่เราปูพรมพื้นที่ อ.บางระกำ ประชาชน คนจนจำนวน 2000 คน ให้ผ่านความยากจนให้ได้ภายในปีนี้

ในระยะที่ 2 งานของเราจึงมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องของการสำรวจใหม่อีกรอบหนึ่งสำหรับคนจนใน อ.บางระกำ ว่ามีการตกสำรวจหรือไม่ เรื่องที่ 2 คือการสร้างกลไก “โมเดลสร้างอาชีพ” ขึ้นมาทั้งหมด 16 อาชีพ อาทิ การพัฒนาคุณภาพพันธุ์ข้าว  การสร้างอาชีพต่างๆ อาทิ วิถีการทำปลาร้า ,ปลาส้ม, การแปรรูปเกล็ดปลา ซึ่งล้วนแล้วต่อยอดจากอาชีพดั่งเดิม ของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น  โดยในการที่จะนำพัฒนาคนจนของเราขึ้นมา รวมทั้งพัฒนาวิสาหกิจชุมชน อีก 5 แห่ง เพื่อที่จะให้คนจนเข้าไปอยู่ในวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้เรายังทำแพลตฟอร์มคนจนทั้ง 2,000 คน เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของเรารวมทั้ง ถ้าใครไม่ได้รับการพัฒนาในอาชีพ แต่มีความสามารถในด้านอื่นๆ เราก็จะนำเข้าไปอยู่แพลตฟอร์ม โดยมีตัวแทนของหน่วยงานเอกชน เพื่อมาเลือกหาแรงงานที่จะเข้าไปร่วมงานเพื่อช่วยเหลือคนจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือทางเราจะดูและในเรื่องของการพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆ ร่วมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกได้ว่าเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับปัญหาคนจนให้หมดไป

ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนจนในอำเภอบางระกำให้ใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มขึ้น พัฒนาศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีช่องทางในการหางานทำที่สามารถเข้าถึงผู้จ้างงานได้ง่าย หรือให้ผู้จ้างงานเข้าถึงคนจนที่มีศักยภาพตามที่ต้องการได้

ที่มา: phitsanulokhotnews

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin