ม.นเรศวร จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนิสิต เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพนิสิต เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วรพรต ยอดเพชร ที่ปรึกษาโครงการรุ่นเยาว์ ด้านการศึกษาเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่องค์การยูเนสโก(ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ รหัส 55)กรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อ ทักษะอนาคต: การเรียนรู้และพัฒนาการที่ยั่งยืน (SDGs) มีนิสิตเข้าร่วมรับฟังการบรรยายในครั้งนี้ จำนวน 400 คน ณ ห้องมหาราช อาคารอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

โอเคเบตง ถอดประสบการณ์ตรงครูจากผู้ใช้ Q-Info

“…ให้ลองคิดภาพว่าแต่ก่อนครูคนหนึ่งต้องจัดการข้อมูลนักเรียนมากมายแค่ไหน เด็กคนเดียวมีใบ ปพ.1 ถึง ปพ.9 ชั้นหนึ่งมีเด็กกี่คนก็คูณเข้าไป จะหยิบมาใช้แต่ละที เอกสารจิปาถะเหล่านี้ก็กองกระจัดกระจายเต็มโต๊ะ แต่พอข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากกระดาษย้ายไปอยู่บนหน้าจอ เราเข้าถึงข้อมูลได้เร็วมาก ดูผ่านสมาร์ทโฟนบนฝ่ามือได้เลย ทีนี้จะหาข้อมูลก็ง่าย ประหยัดทรัพยากร หรือวางแผนจัดการทุกอย่างในโรงเรียนก็ทำได้สะดวกขึ้น ที่สำคัญเลยคือลดภาระงานครู ครูก็มีเวลาติดตามแก้ปัญหาให้เด็กใกล้ชิดเป็นรายคนจริง ๆ โอกาสเสี่ยงหลุดมันก็ลดลง จากประสบการณ์ของโรงเรียนเราที่นำมาใช้ ต้องบอกว่ากลไกทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น”

เสียงยืนยันจาก ผู้อำนวยการนิษฐเนตร เทพเกื้อ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา 1 ในโรงเรียนต้นแบบจากโรงเรียนกว่า 1,500 แห่ง ทุกสังกัดทั่วประเทศ ที่นำระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ‘Q-Info’ (Quality Learning Information System) ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดย กสศ. และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาใช้จัดการโรงเรียน และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงในเวลาอันสั้น

Q-Info เป็นเครื่องมือติดตามดูแลนักเรียนรายบุคคลในมิติแวดล้อมทุกด้าน(Student Profile) ซึ่งจะบันทึกและแสดงผลการเรียน การเข้าเรียน สุขภาพกาย สุขภาพจิต สถานะเศรษฐกิจ และสถานภาพครอบครัว ออกแบบให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายในโรงเรียน ช่วยครูจัดงานสอนหรืองานทะเบียนวัดผล และเป็นตัวช่วยผู้บริหารสถานศึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เมื่อเปลี่ยนเอกสารกองมหึมาเป็นฐานข้อมูลบนฝ่ามือได้ เวลาของครูก็คืนกลับมา

ครูรีซูวัน ดอเลาะ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ เล่าถึงช่วงเวลาเริ่มต้นใช้งาน Q-Info ที่โรงเรียนว่า “เป็นธรรมดาที่พอมีสิ่งใหม่เข้ามา การรับรู้ของบุคลากรก็แตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งคนที่ยังไม่เปิดใจ กังวลว่าจะใช้เป็นไหม หรือเครียดว่าต้องทำยังไง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า พวกนี้จะมองเห็นระบบ เข้าใจขั้นตอน ไปจนถึงตระหนักว่าการนำนวัตกรรมมาใช้ จะส่งผลดีในวันข้างหน้าอย่างไร

“ถ้าจะทำให้ทุกคนเห็นภาพไปทางเดียวกัน มันต้องทำงานเป็นทีม วิธีของโรงเรียนเราคือให้ครูทุกคนได้ทดลองล็อกอิน กรอกข้อมูล จัดลำดับขั้นตอนใช้งาน จากนั้นเราจะแยกคนที่ทำได้กับยังไม่เข้าใจออกจากกัน แล้วให้จับคู่ทำไปพร้อมกัน โดยมีครูแกนนำอีกคนหนึ่งพาทำบนจอใหญ่ ค่อยทำความรู้จักไปทีละเมนู ทีละคุณลักษณะ(Feature) ทีละคุณสมบัติ(Function) พอเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็ลองทำซ้ำ ๆ ทีละคน ไม่นานทุกคนก็สามารถทำได้

“แน่นอนว่าช่วงแรกคือตอนเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง เราจะเจอความทุลักทุเลอยู่บ้าง มีคนท้อ มีคนไปช้ากว่าคนอื่น แต่เพราะเรามีบัดดี้ที่คอยดูแลไม่ทิ้งกันอยู่ สักพักอุปสรรคก็ค่อย ๆ หมดไป จนเข้าเทอมสอง ผลดีมันค่อย ๆ ปรากฏ ครูเริ่มสบาย คราวนี้เขาเริ่มเห็นแล้วว่าไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ ๆ เหมือนเดิม จบปีเก่าผ่านไปถึงปีการศึกษาใหม่ ข้อมูลก็ยังอยู่ จะดึงเอามาใช้ก็ก็อปปี้วางได้เลย สะดวกรวดเร็วมาก ๆ แล้วที่ทุกคนชอบใจคือไม่ต้องหอบแฟ้มเอกสารเล่มหนา ๆ ติดตัวอีกแล้ว แค่พกสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวเปิดทำตรงไหนก็ได้ มีข้อมูลอัพเดทเรียลไทม์ เรียกดูและติดตามผลได้ตลอด คือแค่เราเสียเวลายุ่งยากเทอมเดียว แต่จากนั้นโรงเรียนจะมีฐานข้อมูลที่ไม่สูญหาย ไม่ว่าจะผ่านไปอีกสิบหรือยี่สิบปีก็ยังอยู่ตรงนั้น”                   

ครูรีซูวันกล่าวว่า สำหรับครูแล้ว งานเอกสารที่ลดลงเท่ากับการได้ ‘เวลา’ เพิ่มขึ้น ใน 1 วันที่มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ซึ่งอีกด้านหนึ่งหมายถึงครูมีชั่วโมงสำหรับการจัดเตรียมการสอนมากขึ้น การติดตามเอาใจใส่นักเรียนทีละคนก็ทำได้เต็มที่

“พองานเอกสารลดลง เวลาที่เพิ่มขึ้นมาเราสามารถเอาไปใช้พัฒนาทั้งคุณภาพการเรียนการสอน และปรับปรุงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ดีขึ้น พอสองสิ่งนี้มีประสิทธิภาพ จำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบก็น้อยลง”

ระบบตรวจจับความเสี่ยง เตือนทันทีก่อนสายเกินแก้

นอกจากลดภาระงานครู Q-Info ยังมีระบบแจ้งเตือนที่ทำให้มองเห็นความผิดปกติของเด็กได้อย่างรวดเร็ว จากการประเมินผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยเมื่อทำการกรอกข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนผลตัวชี้วัดของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งครูสามารถนำมาออกแบบแผนการดูแลเด็กเป็นรายคน หรือเป็นรายวิชา

ส่วนเรื่องการติดตามนักเรียน ครูประจำชั้นจะได้รับการประมวลผลข้อมูลจากบันทึกการเข้าเรียนของเด็กในแต่ละวัน ผลที่แสดงจะเป็นข้อมูลเรียลไทม์ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารเรียกดูได้ทันที ว่าวันนั้น ๆ นักเรียนขาดกี่คน ใครลาป่วย ลากิจ ใครหยุดเรียนหายไปเฉย ๆ หรือคนไหนที่ขาดเรียนบ่อย ๆ หยุดเกิน 2-3 วันติดต่อกัน ระบบจะแจ้งเตือนทันที เพื่อให้มีการติดตามหรือลงพื้นที่เยี่ยมบ้านรับทราบปัญหา ก่อนจะสายเกินไป

ครูรีซูวันระบุว่า Q-Info คือนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของครู และเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบในระยะยาวได้โดยตรง ด้วยการบันทึกข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียด ครบรอบด้าน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำรายงานในแต่ละภาคการศึกษา ก่อนการประชุมทบทวนข้อบกพร่อง และหาแนวทางพัฒนาหลักสูตรที่โรงเรียนใช้ในแต่ละเทอม

“ระบบแสดงให้เราเห็นได้หมด ว่าแต่ละภาคแต่ละเทอม เด็กชั้นหนึ่งห้องหนึ่งมีเกรดเฉลี่ยสูงต่ำอย่างไร ค่าตัวเลขพวกนี้เองที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องปรับปรุงหลักสูตรหรือการเรียนการสอนตรงไหน เพิ่มหรือลดอะไร อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อน แล้วบทสรุปที่ได้จากข้อมูลนี้ จะนำมาใช้แก้ปัญหาของโรงเรียนหรือของนักเรียนได้ในทันที รวมถึงยังเป็นข้อมูลอ้างอิงในการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียนในภาคเรียนถัดไปได้อีกด้วย”

ผู้อำนวยการนิษฐเนตร กล่าวสรุปว่าการใช้ระบบ Q-Info ในระยะยาว จะกลายเป็นกลไกที่เชื่อมต่อสถานศึกษาทั้งประเทศไว้ด้วยกัน ทำให้การส่งรับข้อมูลหรือส่งต่อเด็กนักเรียนง่ายขึ้น นอกจากนี้ผลดีที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและนักเรียน ยังทำให้ครูได้เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าที่แท้จริงของข้อมูล และช่วยตอบคำถามไปในตัวว่า ‘เราเก็บข้อมูลของเด็ก ๆ กันไปทำไม’ เพราะสิ่งที่ครูทุกท่านลงใจลงแรงไปนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เองที่จะกลับมาพัฒนาตัวนักเรียนได้จริง ๆ”

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ และพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) ร่วมกับ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร (SGtech) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ และพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนวิชาการจาก พพ., บีโอไอ, กฟผ., กฟภ., กฟน., ผู้ออกแบบและผู้ผลิต, บริษัทผู้ประกอบการ และ สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในงานภาคปฏิบัติโดยตรง โดยมีผู้บริหาร SGtech เข้าร่วมบรรยาย

1. รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศสมาร์ตกริดเทคโนโลยีแห่งเอเชียแปซิฟิก SGtech บรรยายในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ”
2. ดร.ยอดธง เม่นสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ บรรยายหัวข้อ “ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาร่วมกับแบตเตอรี่และการรับซื้อ – ขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ของ Prosumer ด้วยเทคโนโลยี Blockchain”

โดยงานสัมมนาจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม 2565
ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดฝึกอบรมการใช้งาน Big Data Platform และจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวให้กับ บุคลากรจากการไฟฟ้า

วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGtech) มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับมอบหมายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้ดำเนินงาน “โครงการการจัดทำแผนที่นำทางในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง” ซึ่งได้มีการจัดฝึกอบรมการใช้งาน Big Data Platform และจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวให้กับ บุคลากรจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ระหว่างวันที่ 7 – 8 มี.ค. 2565 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แอปพลิเคชั่น Zoom Meeting

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตน้ำสะอาด

กองอาคารสถานที่ยินดีต้อนรับ คณะศึกษาดูงานคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 2

เมื่อเวลา 10.00 น. วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงาน นิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 พร้อมด้วย อาจารย์ บุษกร ชมเมืองและคณะ เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาขั้นตอนกระบวนการผลิตน้ำสะอาดรวมถึงการควบคุม ดูแลระบบผลิตน้ำประปาอย่างมีประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น ณ โรงผลิตประปา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ให้ความรู้ขั้นตอนระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย

กองอาคารสถานที่ยินดีต้อนรับ คณะศึกษาดูงานคณะเกษตรศาสตร์ ฯ สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานคณะเกษตรศาสตร์ ฯ สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 3 พร้อมด้วย ดร.ณิชากร คอนดี อาจารย์ผู้ควบคุม เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาขั้นตอนระบบบ่อบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น ณ สถานีระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมเป็นต้นแบบการเรียนการสอนอนุบาลและประถมศึกษาคุณภาพระดับสากล

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ณ  ณ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (ปฐมวัยและประถมศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรให้การต้อนรับ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน “อาคารปฏิบัติการช้างน้อย”
       ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “ การจัดงานในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้แสดงบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาคนทุกช่วงชั้นวัย สำหรับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (ปฐมวัยและประถมศึกษา) ดูแลตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นการปูรากฐานที่สำคัญทางด้านวิชาการ อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างสมบูรณ์ทุกด้าน มีทักษะภาษาไทยและภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐาน เพื่อใช้ในการแสวงหาความรู้ และการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับศตวรรษที่ 21 ”
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดากาญจน์ ปัทมดิลก รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (ปฐมวัยและประถมมศึกษา) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ภารกิจหลัก และแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนว่า โรงเรียนมุ่งเน้นการจัดศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยมุ่งที่จะเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อบูรณาการการเรียนรู้ต่างๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาล  แล้วพัฒนาสู่ทักษะพหุภาษา และทักษะภาษาคอมพิวเตอร์ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา

ที่มา: ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยนเรศวร

รมว.พม.เปิด “อาคารปฏิบัติการช้างน้อย” โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด “อาคารปฏิบัติการช้างน้อย” ณ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (อนุบาลและประถมศึกษา) 

ที่มา: phitsanulokhotnews

กิจกรรมแนะแนวออนไลน์ คณะเกษตรศาสตร์ฯ ม.นเรศวร

กิจกรรมแนะแนวสาขาวิชาสำหรับปริญญาตรี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 15.00-16.30 น. : https://www.facebook.com/AGINaresuan/videos/1082185049014688

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร

25 สถาบันการศึกษา เปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนรายวิชา ‘ข้ามสถาบัน’ ได้

วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ การลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันสมาชิกของที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 25 สถาบันเข้าร่วม มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เป็นประธาน และ ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ ประธาน ทคบร. และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพยานลงนาม 

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์เปิดเผยว่า อว. มีภารกิจหลักสำคัญ 3 ด้าน คือ การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ภายในระยะเวลา 2 ปีเศษหลังการจัดตั้งกระทรวง อว. ได้พัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคที่เคยเป็นมาของมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด อาทิ การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศของแต่ละแห่ง การปลดล็อกระยะเวลาสูงสุดในการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าของอาจารย์ โดยเพิ่ม 5 ช่องทางในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าวต่อไปว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของระบบการอุดมศึกษาไทย ที่เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบของอธิการบดีทั้ง 25 สถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องยากอย่างมาก แต่วันนี้เราสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ถือเป็นการนำนโยบายของ อว. ในด้านระบบคลังหน่วยกิตและการใช้ทรัพยากรร่วมกันมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษาที่ควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ให้พวกเขามีโอกาสเสาะแสวงหาความรู้ตามรายวิชาที่ตนสนใจ และได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากมหาวิทยาลัยที่ต่างก็มีของดีและความเป็นเลิศที่แตกต่างกัน ขณะที่มหาวิทยาลัยยังได้รับประโยชน์จากการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นการสนธิกำลังกันให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในก้าวต่อไป 

ด้าน ศ.ดร.พญ.พัชรีย์กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจ 25 สถาบันการศึกษา มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ด้วยการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบัน และสามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรที่นักศึกษากำลังศึกษาได้ รวมทั้งสามารถนำไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการสังคมแก่นิสิต นักศึกษา 

สำหรับสถาบันการศึกษา 25 แห่งที่สามารถลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้ ประกอบด้วย 

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • มหาวิทยาลัยทักษิณ 
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร 
  • มหาวิทยาลัยบูรพา 
  • มหาวิทยาลัยพะเยา 
  • มหาวิทยาลัยมหิดล 
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
  • มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 
  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร 
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

โดยนิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปสามารถศึกษารายละเอียดการลงทะเบียนข้ามสถาบัน และรายวิชาที่เปิดรับลงทะเบียนได้ที่ https://graduate.mahidol.ac.th/cgau/courses.php 

ที่มา: THE STANDARD

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin