วช. มอบรางวัลวิจัยแห่งชาติ ให้ ม.นเรศวร ที่คิดค้นนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ารำข้าว

นักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก เป็นผลสำเร็จช่วยให้ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ที่บริโภคข้าวเป็นอาหาร อุดมสมบูรณ์ด้วยวิตามิน เอ ดี และ เค จนได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดีในปีนี้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวและสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงกับผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็กในอนาคตได้ จึงมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา รุตรัตนมงคล เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาหลักของการผลิตน้ำมันรำข้าวบีบเย็นในระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ คุณภาพของรำข้าวลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำงานของเอนไซม์ไลเพส ส่งผลทำให้เกิดกรดไขมันอิสระและทำให้ค่าความเป็นกรดของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งเครื่องต้นแบบจะช่วยยืดอายุหรือคงสภาพรำข้าวเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมคุณภาพของรำข้าวภายหลังกระบวนการขัดสีได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้เทคนิคการให้ความร้อนแบบอินฟราเรดร่วมกับระบบถังไซโคลนแบบต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการทดสอบสภาวะที่เหมาะสมในการคงสภาพรำข้าวด้วยเครื่องให้ความร้อนแบบอินฟราเรดขนาดจำลองในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบการผลิตแบบกะ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาเป็นแนวทางพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวต้นแบบที่มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 100 กิโลกรัมต่อวัน

จากการทดลองพบว่าสภาวะการคงสภาพรำข้าวที่กำลังวัตต์สูงสุด 9000 วัตต์และระยะเวลานานที่สุด 4.21 นาที (ความเร็วรอบเท่ากับ 10 Hz) ทำให้ค่า FFA ของรำข้าวลดลงต่ำที่สุดเท่ากับ 1.97% และ 3.67%ที่อายุการเก็บ 4 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิการเก็บ 30 และ 40 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่แนะนำ (ร้อยละ 5) และพบว่าที่สภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ ในรำข้าว โดยที่ค่าความชื้นและค่าวอร์เตอร์แอคติวิตี้มีค่าต่ำกว่า 0.6 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างมีค่าอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน CODEX ซึ่งใน อนาคต เครื่องดังกล่าวจะนำไปทดลองใช้ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

เอ็นซี โคโคนัท จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพาะเนื้อเยื่อ มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ที่แรกของโลก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เป็นบริษัทผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลก

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท NC COCONUT ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีหลายอำเภอที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ เช่น อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอวัดเพลง อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ และอำเภอบ้านโป่ง มีพื้นที่รวมในการเพาะปลูกกว่า 100,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกนับเป็น 10,000 ล้านบาท ต่อปี และในปัจจุบันความต้องการของเกษตรกรมีเพิ่มมากขึ้นที่หันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทำให้สายพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบมีการกลายพันธุ์ ถ้าเกษตรกรนำไปเพาะปลูกกว่าจะเห็นผลผลิตก็จะเสียเวลาในการรอคอยไป 2-3 ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรได้ บริษัท NC COCONUT ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านมะพร้าวน้ำหอมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของพันธุ์ของมะพร้าว จึงได้ร่วมมือกับ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี จนได้กล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ตรงตามแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตลูกดก จำนวนทะลายมาก และคงความอัตลักษณ์ในรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบนี้

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวในงานว่า การวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนี้ เป็นการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดี ได้แก่ น้ำ และเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายมาก จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ ให้ผลสม่ำเสมอฯ เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วนำตัวอย่างพืช (Explant) ของต้นดังกล่าวไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์และปลอดโรค ให้ผลดก เป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ในงานนี้ บริษัท NC COCONUT ยังได้ประกาศความสำเร็จความร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลกอีกด้วย เพื่อให้คงไว้ซึ่งต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมแท้และดั้งเดิมพันธุ์ก้นจีบ จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยการวิจัยครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการส่งออกอีกด้วย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

วช.หนุนนักวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์ นำชมสวนมะยงชิดตัวอย่างในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดการองค์ความรู้ตั้งแต่การเตรียมปลูก การกำจัดแมลงและศัตรูพืช จัดการระบบหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปสร้างเอกลักษณ์ให้ดึงดูดใจ พร้อมจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออก แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และคณะ ได้แก่ ดร.นุชนาถ ภักดี และ นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ สวนใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้จากโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สำหรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์นั้น ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูก และการดูแลตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม (Ca) – โบรอน (B) การศึกษาจำนวนผลต่อต้นที่เหมาะสม

ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลโดยตรงคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มคุณภาพทางเคมีของผลผลิต เช่น รสชาติ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ

ระหว่างปลูกมีระยะที่ต้องเฝ้าระวังคือ ระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกโรย และช่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อราและกลุ่มแมลงปากดูด โดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะยงชิด และยังมีโรคและแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของมะยงชิด ได้แก่ โรคราดำ แมลงวันผลไม้ ด้วงงวงกัดใบมะยงชิด ด้วงเจาะลำต้นมะยงชิดและแมลงค่อมทอง จึงต้องควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวนั้นนักวิจัยแนะนำให้ใช้สาร 1-เมธิลไซโคลโพรพีน (1-Methylcyclopropene) เคลือบผิวมะยงชิด ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

และยังมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปมะยงชิดโดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะยงชิด โดยการจัดเสวนาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลางและกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็น 1 ใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย วช. ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนมะยงชิดใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2567 – 2570

วันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำทีมโดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2567 – 2570

กิจกรรม ในงานประกอบด้วย
📍 Workshop การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในระดับภูมิภาค ประจำปี 2567 – 2570
📍 กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของเครือข่าย สป.อว.
📍 พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาจังหวัดด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงมหาดไทย
📍 งานแถลงความสำเร็จของความร่วมมือการจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน พ.ศ. 2566 – 2570”
📍 พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาจังหวัด” ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ มหาวิทยาลัยเครือข่าย
📍 การจัดนิทรรศการ โดย ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและผู้บริหารของกระทรวง อว. และกระทรวงมหาดไทย เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยนิทรรศการจะแสดงให้เห็นภาพการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ทั้งสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย กว่า 150 หน่วยงาน ที่นำผลงานบางส่วนมาจัดแสดงให้เห็นภาพความเชื่อมโยงระบบนิเวศน์ของการนำงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ไปพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เก็บรักษามะม่วงได้นานกว่า 1 เดือน! สกสว. ช่วยชาวสวนส่งมะม่วงทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้มีผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดพรีเมียมที่สำคัญและทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมากทุกปี เนื่องจากมีสายการบินพาณิชย์ให้บริการจำนวนน้อย แต่มีค่าระวางเครื่องบินราคาแพง โดยขณะนี้ผลผลิตมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน ส่วนราคาขายภายในประเทศต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท จากราคาปกติกิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนประสบปัญหาขาดทุนอย่างมาก

จากผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณะวิจัยพบว่า เทคนิคการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน จากเดิมที่เก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน โดยถุงพลาสติก WEB ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการหายใจ และลดการผลิตเอทิลีน โดยยังคงรักษาคุณภาพมะม่วงให้อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภค

mango1310463

คณะวิจัยได้ทดลองส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน จำนวน 1.2 ตัน เพื่อยืนยันผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยเริ่มต้นจากคัดเลือกผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจคุณภาพความแก่ ทำความสะอาด และกระบวนการยืดอายุ ก่อนขนส่งมะม่วงโดยเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงประเทศญี่ปุ่น 20 วัน ผลการทดลองพบว่ามะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสด พร้อมจำหน่ายและยังคงรสชาติได้ดี เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ทั้งนี้ การขนส่งทางเรือสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า (ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ) โดยมีต่นทุนการขนส่งไม่เกิน 30 บาท/กิโลกรัม

ผศ. ดร.พีระศักดิ์จึงเสนอการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วยการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. โดยในเดือนเมษายน 2563 มีการส่งออกไปทางเรือแล้วจำนวน 20 ตัน และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ขณะที่มะม่วงมหาชนกจะขนส่งถึงท่าเรือโยโกฮามาในวันที่ 16-17 เมษายน 2563

“การขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอยู่รอด หากเกษตรกรหรือผู้ส่งออกรายใดต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือหากต้องการให้ประสานงานกับผู้ส่งออกและนำเข้าปลายทางในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อนักวิจัยได้ที่ 081-9713510 หรืออีเมล peerasakc@gmail.com

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

ร่วมจัดงานแถลงข่าว “วิจัยปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปอเมริกา” ความภูมิใจของนักวิจัยไทยกับการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 12 ปี

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO ,มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ร่วมจัดงานแถลงข่าว “วิจัยปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปอเมริกา” ความภูมิใจของนักวิจัยไทยกับการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 12 ปี ในการแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสดสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ในวันพุธที่ 11 กันยายน 2562 ณ ห้องวิภาวดี C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (Fresh Fruit) ของไทย 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด
โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแม้เป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ โดยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นสายพันธุ์ที่มีความต้องการของตลาดสูง เนื่องจากมีลักษณะเด่น คือ เมื่อผลสุก ผิวของเปลือกมีสีเหลืองนวลถึงเหลืองทอง เนื้อสีเหลืองมีกลิ่นหอม จึงเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่เริ่มส่งออกในปี พ.ศ. 2551 การส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง หลังฉายรังสีและส่งออกไปถึงปลายทางที่สหรัฐอเมริกา ได้ประสบปัญหาด้านคุณภาพ และพบปัญหาการเกิดเส้นดำบริเวณผิวเปลือก และเกิดเนื้อสีน้ำตาล ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณส่วนแก้มของผล ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกผลมะม่วงสดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาได้จนถึงปัจจุบัน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO ,มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

จากปัญหาดังกล่าว จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เกิดเป็นโครงการ “การศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพ มาตรฐานส่งออก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา และการลดความเสียหายของมะม่วงฉายรีงสีแกมมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO ,มหาวิทยาลัยนเรศวร และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และงานวิจัยประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2562 การส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสามารถส่งออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ และ ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา

การแถลงข่าว“วิจัยปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปสหรัฐอเมริกา” ที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นการสร้างความเข้าใจ และ องค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเพื่อต่อยอดให้กับกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดการค้าผลไม้สดของไทยสู่สหรัฐอเมริกา และ ตลาดต่างประเทศอื่นๆ ต่อไป

ที่มา: posttoday

มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยลูกประคบสมุนไพร สำหรับเซลลูไลท์สำเร็จ

รศ. ดร.กรกนก อิงคนินันท์  หัวหน้าโครงการ คณะวิจัยจากสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการ พัฒนาสูตรตำรับลูกประคบสำหรับลดเซลลูไลท์ โดยคัดสรรสมุนไพรที่มีศักยภาพในการลดเซลลูไลท์ เช่น สมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนโลหิต มีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตไขมัน หรือกระตุ้นการสลายไขมัน และสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ มาเป็นส่วนประกอบของลูกประคบ รวมถึงพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ และประเมินประสิทธิภาพในการใช้ลดเซลลูไลท์ของลูกประคบที่พัฒนาขึ้นในอาสาสมัครเชิงคลินิกเพศหญิงจำนวน 21 คน
ผลจากการศึกษาพบว่าลูกประกบที่พัฒนาขึ้นช่วยลดความรุนแรงของเซลลูไลท์ และมีความปลอดภัยสูง โดยได้เปรียบเทียบระหว่างลูกประคบที่พัฒนาจากงานวิจัยที่ขาด้านหนึ่ง กับลูกประคบหลอกที่ไม่มีตัวยาสมุนไพรที่ต้นขาของอาสาสมัครที่ขาอีกด้านหนึ่ง โดยใช้เวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 2 เดือน ซึ่งได้มีการประเมินประสิทธิภาพใน 3 ด้าน คือ วัดเส้นรอบวงต้นขา วัดความหนาแน่นของชั้นไขมัน และวัดระดับความรุนแรงของเซลลูไลท์ โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่าต้นขาที่ใช้ลูกประคบสมุนไพรที่พัฒนาขึ้นมีเส้นรอบวงความหนาของชั้นไขมัน และระดับความรุนแรงของเซลลูไลท์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเทียบกับต้นขาอีกข้างที่ได้รับลูกประคบหลอก ในขณะที่ผลการศึกษาประเมินความปลอดภัย พบว่าลูกประคบจากงานวิจัยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองใดๆ ที่เป็นอันตรายต่ออาสาสมัคร จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับลูกประคบดั้งเดิมจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งมักใช้ในการลดอาการปวดเมื่อย โดยคณะวิจัยได้พัฒนาสูตรใหม่จากการศึกษารายงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่เกี่ยวกับสมุนไพรที่เกี่ยวข้อง และนำมาสมุนไพรอีกส่วนเข้ามาเพิ่มเติม โดยผลิตภัณฑ์ลูกประคบนี้จะนำไปใช้ในสปาเป็นหลัก แต่หากใครสนใจซื้อไปใช้เองที่บ้านก็ได้ และจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ผลัดกันนวดประคบด้วย
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้รับทุนให้ทำวิจัยต่อยอดจาก คปก. และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เพื่อทดสอบเชิงลึกในการหากลไกการยับยั้งการสร้างไขมันหรือกระตุ้นการสลายไขมันจากองค์ประกอบของลูกประคบ และพัฒนาตำรับสูตรเจลลดเซลลูไลท์ที่มีสารสกัดจากลูกประคบ รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพตำรับที่พัฒนาได้ในอาสาสมัครด้วย ด้าน น.ส.งามรยุ งามดอกไม้ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า ลูกประคบดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยสมุนไพรหลักที่เป็นสมุนไพรไทยรสร้อน เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นการสลายไขมัน นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรที่มี ซึ่งมีคาเฟอีนที่เป็นตัวออกฤทธิ์ สลายไขมันอีกด้วย

ที่มา: phitsanulokhotnews

มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยโดรนลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร  พร้อมทีม ได้สาธิตเกี่ยวกับเครื่องมือลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (โดรนทางการเกษตร) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหลักสูตรเกษตรแม่นยำ รวมถึงการสาธิตการใช้โดรนเพื่อส่งเอกสารระหว่างอาคาร ซึ่งแสดงถึงนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้  และเตรียมเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน “หลักสูตรแม่นยำ” ในปี การศึกษา2563
ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้ร่วมกับทีมวิจัย ได้วิจัยการนำโดรนมาใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุน และสามารถลดค่าจ้างแรงงานคนที่พบว่า การจ้างตกวัน ละ 500-600 บาทต่อวัน  โดยปัจจุบันการนำโดรนมาฉีดพ่นยา เพียงไร่ละ 60 บาทเท่านั้น สามารถฉีดพ่นได้ถึง 100 ไร่ต่อวัน
นอกจากนี้ยังได้ทำวิจัย ด้านของการเพิ่มความหวานของอ้อยก่อนที่จะเข้าโรงงานอีก ทำงานวิจัยที่ทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการที่จะเพิ่มความหวาน ccs ของอ้อย ถึง 3-4 ccs  ซึ่งเกษตรกรจะได้เปรียบคือ ทุก ccs ที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรจะได้ ccs ละ  50 บาท
ทั้งนี้ การใช้โดรนทางการเกษตร การฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนพืช ตลอดจนการควบคุมศัตรูพืชด้วยโดรนทางการเกษตร ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมละไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดรนทางการเกษตรสามารถทำงานได้และทำให้ช่วยประหยัดได้หลายอย่าง เช่น ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ประหยัดน้ำ หลังจากที่ได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้เครื่องบินเล็กในการฉีดพ่นสารแทนคนแล้ว ก็มีจุดประสงค์อยากให้คนอื่นๆ ได้เห็นถึงประโยชน์ด้วย หลังจากนั้นก็นำเครื่องไปสาธิตทำแปลงทดลองให้เพื่อนๆ ชาวไร่และหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานน้ำอ้อย เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin