ม.นเรศวร ร่วมผนึกกำลังสร้างภูมิคุ้มกันแลป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดให้มีกิจกรรมที่ 2 ประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา ภาคเหนือตอนล่างปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ณ โรงแรมหรรษนันท์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดย ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดและมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีตัวแทนซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้รับผิดชอบโครงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง ของสถาบันเครือข่ายภาคเหนือตอนล่างเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนรูปแบบและแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน อีกทั้งได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและตอบข้อซักถาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินของแต่ละสถาบันร่วมถึงพัฒนาความร่วมมือภายในเครือข่ายต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานด้านณรงค์ป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวร (สถาบันแม่ข่าย) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานด้านณรงค์ป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง เป็นครั้งที่3 โดยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับ 1.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ในประเด็นการลงพื้นที่เป้าหมายรณรงค์และให้ความรู้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและรู้เท่าทันสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบัน 2.มหาวิทยาลัยภาคกลาง ในประเด็นผนวกการให้ความรู้เรื่องยาเสพติดเข้ากับวิชาเรียน และ 3.มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ให้ความรู้การทำคลิปเพื่อเผยแพร่ความรู้การรณรงค์ป้องกันยาเสพติด โดยทั้ง3สถาบัน จะได้นำสิ่งที่ได้จากการดำเนินงานร่วมแลกเปลี่ยนกับสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายภาคเหนือตอนล่างต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ผนึกกำลังจัด “สัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 14” มุ่งขับเคลื่อนอาชีพคนพิการ ยุคโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 น. ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 การขับเคลื่อนอาชีพสำหรับคนพิการในยุคโควิดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม “Driving occupation for persons with disabilities in the COVID-19 pandemic with technology and innovation” ในรูปแบบการจัด Online และ Onsite ผ่านโปรแกรม Zoom meeting

พร้อมมอบเกียรติบัตรและโล่รางวัลให้แก่ผลงานบทความวิชาการ จำนวน 3 รางวัล และการประกวดนวัตกรรม จำนวน 6 รางวัล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กำพล ทรัพย์สมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงาน พร้อมด้วย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณาจารย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้แทนหน่วยงานองค์กรด้านคนพิการ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน

ที่มา: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ม.นเรศวร ร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 เป็นวันที่สอง โดยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยพิษณุโลก และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั้งผู้บริหารสถาบันและผู้รับผิดชอบโครงการของทั้งสองสถาบัน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการของแต่ละสถาบันเป็นอย่างดี ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรจะได้นำข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการที่ได้รับเข้าร่วมพูดคุยกับสถาบันอื่นๆในเครือข่ายต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

บีบีจีไอ จับมือ ม.นเรศวร ต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจากสารสกัดสมุนไพร สู่การผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สานต่อกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับผู้บริโภค

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์ในการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสุขภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบีบีจีไอ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากธรรมชาติที่ต่อยอดจากงานวิจัยและพัฒนา โดยบีบีจีไอได้ทราบถึงการทำวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรของทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการต่อยอดสารสกัดจากสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีทิศทางด้านการวิจัยที่สอดคล้องกับ 13 หมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรมูลค่าสูง และการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ซึ่งความร่วมมือกันทางวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดสมุนไพร โดยการนำความรู้ทางวิชาการไปต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองปัญหาสุขภาพของผู้บริโภค และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ”

บีบีจีไอ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลทางด้านวิชาการ เพื่อให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัย นำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับผู้บริโภคต่อไป

ที่มา: บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)

เด็กๆ แห่แข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ในงานสัปดาห์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้จัดงานสัปดาห์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือตอนล่างขึ้น ซึ่งบรรยากาศมีน้องๆ นักเรียนจากหลากหลายโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้ให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นศูนย์กลางในการจัดงานสัปดาห์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือตอนล่าง โดยได้ดำเนินการกิจกรรมระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2565 ภายใต้โครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 33 ประจำปี 2565 ในรูปแบบ Onsite และรูปแบบ Online (บางส่วน) โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมีนักเรียนจาก 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเดินทางมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ในขณะที่ทางร้านค้าที่มาเปิดร้านภายในงาน ระบุว่าปีนี้มีนักเรียนเดินทางมาร่วมกิจกรรมลดน้อยลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากยังกังวลเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 นอกจากนี้ที่บริเวณตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาควิชาฟิสิกส์ได้จัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ไม่จำกัดระดับชั้น ทำให้มีนักเรียนในสังกัดโรงเรียนเขตภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, ตาก, กำแพงเพชร, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, พิจิตร, นครสวรรค์ และอุทัยธานี เข้าร่วมแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ทั้งประเภทร่อนนาน และประเภทแม่นยำ จำนวน 168 คน
สำหรับผู้ที่ชนะการแข่งขัน ประเภทร่อนนาน รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 800 บาท รองชนะเลิศลำดับที่ 1 เงินรางวัล 500 บาท และรองชนะเลิศลำดับที่ 2 เงินรางวัล 300 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ซึ่งจะมอบให้ผู้เข้าแข่งขันที่ทำสถิติที่ดีที่สุด 20 อันดับด้วยเช่นกัน ส่วนประเภทแม่นยำ รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 800 บาท รองชนะเลิศลำดับที่ 1 เงินรางวัล 500 บาท และรองชนะเลิศลำดับที่ 2 เงินรางวัล 300 บาท ส่วนใบประกาศนียบัตรจะมอบให้ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเท่านั้น ซึ่งการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับจะเป็นการฝึกให้เด็กๆได้มีสมาธิ มีทักษะในเรื่องรูปทรง ว่าลักษณะไหนเมื่อพับออกมาจะร่อนได้นานที่สุดและร่อนนานที่สุดอีกด้วย

ที่มา: phitsanulokhotnews

ม.นเรศวร ร่วม กสศ. จับมือ สพฐ. เปิดระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คัดกรองความเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา 6 ด้าน

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมีครูผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษาจาก 26 เขตพื้นที่ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เข้าร่วมรับฟังแนวทางการทำงานด้านข้อมูล ปฏิทินการดำเนินงาน และการใช้เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงของนักเรียน เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างดำเนินการหารือและพัฒนาเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน โดยหนึ่งในความปลอดภัยคือนักเรียนต้องได้รับการประเมิน คัดกรอง และการดูแลผ่านการทำงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งจากการทำงานของ สพฐ. ร่วมกับ กสศ. โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองความเสี่ยงนักเรียน โดย สพฐ. เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานเรื่องดังกล่าว โดยใช้กลไก ฉกชน. ส่วนภูมิภาค เพื่อคัดเลือกพื้นที่นำร่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ถือเป็นโอกาสดีที่ สพฐ. จะได้เดินหน้านโยบายความปลอดภัยในโรงเรียนไปพร้อมกัน

“จากการใช้งานระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทำให้เราได้รู้ข้อมูลว่ายังมีความไม่ปลอดภัยในตัวนักเรียนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 หรือ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เมื่อกลับมาเปิดเรียน On Site ในช่วงนี้ ทำให้ได้เห็นว่านักเรียนมีปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของสุขภาพจิต มีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ทำให้เราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาให้มากขึ้น” 

เลขาธิการ กพฐ.  กล่าวต่อไปว่า การจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างจริงจัง ต้องเกิดจากความร่วมมือของผู้ปกครองเป็นลำดับแรก ในขณะที่ตัวนักเรียนก็ต้องมีความเข้าใจว่าในภาวะที่กำลังประสบปัญหาต้องทำอย่างไร ลำดับถัดมาคือสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู ตลอดจนเพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน ไปจนถึงบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการสนับสนุนและรวมถึงระบบของ สพฐ. เอง ซึ่งขณะนี้ได้วางระบบเรื่องความปลอดภัยไว้ทั้งระบบแล้ว

“แต่สิ่งที่เราอยากได้และอยากทำตรงนี้ให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีก คือหากเรามีระบบสารสนเทศเพื่อเก็บฐานข้อมูลที่ดี ก็เหมือนกับเราได้เริ่มต้นจัดทำแฟ้มประวัติคนไข้ให้กับนักเรียนของเรา ทุกคนจะมีแฟ้มประวัติของตนเอง ซึ่งในแฟ้มประวัตินี้จะมีข้อมูลการคัดกรองทุกๆ ด้านของนักเรียน เวลาเราส่งต่อนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นก็จะทำให้เรารู้สภาพของนักเรียน มีการประเมินนักเรียนเป็นระยะและบันทึกไว้ในแฟ้มประวัตินี้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของเราเป็นอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่การศึกษานำร่อง ร่วมกันถอดบทเรียนว่าเมื่อได้จัดเก็บประวัตินักเรียนแล้ว เห็นจุดเด่น จุดด้อย หรือข้อบกพร่องอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของการดำเนินงานและเครื่องมือที่ใช้ แล้ววิเคราะห์ว่าจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร โดยมั่นใจว่าถ้าหากการทดลองในโรงเรียนนำร่องทั้ง 26 เขตประสบความสำเร็จ ปีการศึกษาหน้า สพฐ. จะนำเครื่องมือนี้ขยายผลไปยังสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวขอบคุณ สพฐ. ที่ให้ความร่วมมือในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์การศึกษาไทยด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และถือเป็นการต่อยอดการทำงานตามนโยบายพาน้องกลับมาเรียนของนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนผ่านระบบสารสนเทศ จะช่วยให้นักเรียนที่ประสบปัญหาได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบมากขึ้น

“เมื่อเรามีโอกาสพาน้องๆ กลับมาสู่โรงเรียนได้แล้ว เราน่าจะมีโอกาสดูแลรักษาไม่ให้เขาหลุดจากระบบซ้ำอีก ระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนอกจากดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับมาได้แล้ว ยังมีโอกาสช่วยส่งต่อเด็กๆ เหล่านี้ให้ได้เรียนต่อในระดับสูงสุดตามที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มศักยภาพด้วย แต่น้องๆ เหล่านี้จะไม่มีโอกาสเดินทางไปถึงจุดนั้นได้เลยหากไม่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่คอยดูแล คุ้มครอง ป้องกัน ไม่ให้เขาหลุดออกไปจากระบบการศึกษาได้อีก”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท กล่าวว่า ปีการศึกษา 2565 กสศ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นระบบ One Application หรือเรียกสั้นๆ ว่าระบบ One App โดยบูรณาการกับฐานข้อมูลปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน,ระบบ DMC, ระบบ CCT ซึ่งลดขั้นตอนการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนในการออกเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองและทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลแต่ละครั้ง มีเป้าหมายลดภาระด้านงานเอกสารของคุณครูลงกว่าร้อยละ 80

“การเก็บข้อมูลลงระบบ One App ให้เป็นระบบเดียวกัน คุณครูจะทำงานครั้งเดียวแต่สามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ทั้งการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กและรายงานผลต่างๆ ไปยังผู้บริหารสถานศึกษาในลำดับถัดไปได้ เราตั้งใจที่จะทำให้การทำงานด้านข้อมูลเป็นการทำงานครั้งเดียวและสามารถนำไปใช้ได้หลายๆ ครั้ง โดยใช้เวลาสั้นที่สุดและไม่ต้องใช้กระดาษ สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่นำร่องจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ One App ขยายไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ต่อไป”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวต่อไปว่า หลังจากคุณครูกรอกข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบสารสนเทศ นอกจากเด็กๆ จะได้รับการดูแลในระบบการศึกษา เด็กทุกคนยังจะได้เข้าสู่ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เช่น บางคนเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับอาจไปเรียนต่อ กศน. หรือได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพไปเป็นผู้ประกอบการ มีงานทำ มีรายได้ โดย กสศ. จะรับหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้รับช่วงต่อในการดูแลเด็กแต่ละคน เช่น ทุน กยศ. หรือทุนอื่นๆ จากภาคเอกชน

“ท้ายที่สุดไม่ว่าน้องๆ จะเลือกเส้นทางไหน ล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาทั้งนั้น คือมีเส้นทางที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอตามความถนัดเป็นรายบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่มีระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียนด้วยทางเลือกที่หลากหลาย เราไม่ได้มองโจทย์ไปที่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เรามองว่าต้องมีเส้นทางการพัฒนาทักษะตามศตวรรษที่ 21 ทักษะสังคม เรื่องของอารมณ์ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาแม้มีศักยภาพก็ตาม”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 กสศ. ได้ทำงานร่วมกับ สพฐ. จัดทำฐานข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อการจัดสรรทุนเสมอภาค สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นต่อไปในปีการศึกษา 2565-2566 คือมุ่งการทำงานในเชิงคุณภาพ โดยจะขยายการทำงานไปในมิติด้านสุขภาพทั้งกายและจิต พฤติกรรม การเรียน และความถนัดเฉพาะด้านเป็นรายบุคคล ซึ่งระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ได้เปิดระบบให้คุณครูดำเนินการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยง ประเมินจุดแข็งจุดอ่อน (SDQ) ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และการติดตามการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2565  โดยจุดเน้นการทำงานในปีนี้ มีการปรับปรุงแบบฟอร์มจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ สอดรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA โดยมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนทุกคนจะได้รับความปลอดภัย และการปรับปรุงระบบสารสนเทศ ให้คุณครูมีความสะดวกและประหยัดเวลาในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดทำหน้าสรุปรายงาน การติดตามนักเรียนที่มีแนวโน้มความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ ผ่านหน้ารายงานผลแบบ Dashboard สถานการณ์ รายชั้นเรียน รายสถานศึกษา รายเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อสนับสนุนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงการจัดทำนโยบายเพื่อการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาเป็นรายบุคคล 

ม.นเรศวร ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ และพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) ร่วมกับ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร (SGtech) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ และพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนวิชาการจาก พพ., บีโอไอ, กฟผ., กฟภ., กฟน., ผู้ออกแบบและผู้ผลิต, บริษัทผู้ประกอบการ และ สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในงานภาคปฏิบัติโดยตรง โดยมีผู้บริหาร SGtech เข้าร่วมบรรยาย

1. รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศสมาร์ตกริดเทคโนโลยีแห่งเอเชียแปซิฟิก SGtech บรรยายในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ”
2. ดร.ยอดธง เม่นสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ บรรยายหัวข้อ “ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาร่วมกับแบตเตอรี่และการรับซื้อ – ขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ของ Prosumer ด้วยเทคโนโลยี Blockchain”

โดยงานสัมมนาจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม 2565
ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ร่วมกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน โครงการ “ต้นไม้ชีวิต” 

      วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.30 น.นายสุรัตน์ รอดมา หัวหน้างานภูมิทัศน์และคณะ เข้าร่วมโครงการ ต้นไม้มีชีวิต โดย นายกล้าหาญ ทารักษา แขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลก จัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน โครงการ “ต้นไม้ชีวิต” โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดโครงการ นายกล้าหาญ ทารักษา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลก กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปี พ.ศ.2564 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 13,448 รายและบาดเจ็บกว่า 8 แสนรายจากการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลก พบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยจังหวัดพิษณุโลก มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 226 ราย ซึ่งในครั้งนี้ แขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลก ได้ดำเนินการจัดทำโครงการ ต้นไม้ชีวิตขึ้น ในการเสริมสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน และรักษ์โลก บนวิสัยทัศน์ Vision Zero / Zero Waste & Zero Deathทั้งนี้ ส่วนราชการและประชาชน ได้ร่วมกันจัดพิธีสงฆ์ สวดอุทิศให้ผู้เสียชีวิต 226 ราย พร้อมชมนิทรรศการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และร่วมกันปลูกต้นไม้ 226 ต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวณ ริมทางหลวงชนบท สาย พล.4003 กม.2+400 ถึง 3+400 อ.เมือง พิษณุโลก

ม.นเรศวร จับมือ 2 องค์กรมุ่งพัฒนานวัตกรรมห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจค้าสัตว์น้ำ และนวัตกรรมสังคม

ที่มา: คณะสังคมศาสตร์

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin