ม.นเรศวร เผยผลวิจัย โรงเรียนจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ลดการทดลองสูบบุหรี่ของ นร.ได้เกือบ 2 เท่า

วันที่ 1 เมษายน 2565 รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยผลการวิจัยเรื่องผลการสำรวจโอกาสเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของนักเรียนในภูมิภาคของประเทศไทย (Susceptibility to smoking and determinants among never-smoking high school students : A representative nationwide study in Thailand) สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ว่า การสำรวจนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 จาก 12 จังหวัดทุกภูมิภาคของไทย จำนวน 3,156 คน พบว่า มีนักเรียน 72.4% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ ในขณะที่เหลืออีก 27.6% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้ง โดยพบว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ มีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 13.6% ในขณะที่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้งมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 23.9% “สรุปได้ว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่าโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบนาน ๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า เช่นเดียวกับการได้รับข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตที่พบว่า นักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีสัดส่วนของคนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่านักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า” รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

นายวุฒิชัย ลาภไธสง โรงเรียนหล่มเก่าวิทยาคม จังหวัดเพชรบูรณ์ ประธานแกนนำนักเรียนชมรม Gen Zกล่าวว่า ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมป้องกันนักสูบหน้าใหม่ Gen Z Gen Strong กับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำความรู้เกี่ยวกับอันตราย พิษภัยของการสูบบุหรี่มาพัฒนาในโรงเรียน สร้างเครือข่าย Gen Z โรงเรียน สร้างกิจกรรม ต่อยอดกับ บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่ จนทำให้โรงเรียนหล่มเก่าวิทยาคม เป็นโรงเรียนต้นแบบระดับเพชร สำหรับปัจจัยความสำเร็จคือ การเน้นผู้เรียนหรือนักเรียนแกนนำให้สามารถต่อยอด โดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียนได้จัดกิจกรรม คิดเอง รวมตัวกันเอง สามารถส่งต่อกิจกรรมจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เด็กมีความรู้ความสามารถ พึ่งพาตนเองได้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่
ด้านนางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง หัวหน้าคณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียน เป็นหนึ่งใน 7 มาตรการ การดำเนินงานเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้โรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา (ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560) รวมถึงการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ตาม 7 มาตรการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุขของกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบัน มีครูจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกว่า 4,485 คน โดยได้นำแนวทางการดำเนินงาน 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงเรียน เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีทัศนคติที่ยืนยันไม่สูบบุหรี่ไปตลอดชีวิต และปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยของยาสูบทุกประเภท ซึ่งเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ยังเดินหน้าสร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่ และปลูกฝังค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ในสังคมต่อไป โรงเรียนที่สนใจร่วมรณรงค์สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ขั้นตอนง่าย ๆ กดรับสิทธิ “ยาเม็ดคุมกำเนิด” ในแอปฯ เป๋าตัง

ขั้นตอนง่าย ๆ กดรับสิทธิ “ยาเม็ดคุมกำเนิด” ในแอปฯ เป๋าตัง ฟรี !! โดยลงทะเบียน “ กระเป๋าสุขภาพ “ ที่อยู่ในแอปฯ เป๋าตังก่อน แล้วจึงเข้าไปจองสิทธิรับยาคุมกำเนิด และเลือกสถานที่ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน เพื่อเดินทางไปรับยาคุมกำเนิดได้เลยค่าาา หลังจากจองสิทธิแล้วต้องเดินทางไปรับภายใน 24 ชม. เท่านั้นน้าา หมดเขตโครงการนี้วันที่ 30 กันยายน 2565 นี้จ้าา

ที่มา: ร้านยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

สนง.สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เข้าตรวจศูนย์อาหาร NU square และ ศูนย์อาหาร NU Canteen

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 กองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการตรวจมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เข้าตรวจศูนย์อาหาร NU square และ ศูนย์อาหาร NU Canteen โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษามาตรฐานความสะอาด ตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้ผู้รับบริการปลอดภัยจากการใช้บริการ

ที่มา: กองกิจการนิสิต

คณะแพทยศาสตร์ มน. รับการตรวจประเมินมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565  เวลา 09.00 น. ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกเข้าตรวจประเมินร้านค้า  โรงอาหารภายในคณะแพทยศาสตร์ และ งานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  ให้เกิดความปลอดภัยจากโรคติดต่อที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ  พร้อมทั้งให้ความรู้ คำแนะนำ แก่ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเป็นการยกระดับมาตรฐานโรงอาหารคณะแพทยศาสตร์ และงานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และให้ผู้ประกอบการเกิดการตระหนัก การพัฒนา ปรับปรุง และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้สู่การให้บริการที่ได้รับมาตรฐานที่กำหนดไว้ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าและผู้รับบริการ

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมมือ นครยะลาตรวจซากเชื้อโควิดในน้ำเสีย พยากรณ์การระบาดล่วงหน้า!

วันพฤหัสดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา จำนวนผู้ที่เชื้อยังทรงตัวในทุกจังหวัด มีเพียง จ.นราธิวาส ที่ผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างมากเหลือเพียงแค่ 69 ราย และไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตต่อเนื่องเป็นเวลา 8 วันแล้ว

ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของสามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 25 พ.ย.64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ไม่รวมผู้ต้องขังในเรือนจำ) อยู่ที่ 191,530 ราย

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 938 ราย และเสียชีวิต 6 ศพ แยกตามจังหวัดได้ดังนี้

จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 470 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 60,444 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 60,421 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,889 ราย รักษาหายแล้ว 54,302 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 253 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5,266 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 14,241 ราย, อ.เมืองสงขลา 8,001 ราย, อ.จะนะ 7,882 ราย, อ.สิงหนคร 5,048 ราย, อ.สะเดา 4,605 ราย, อ.เทพา 4,566 ราย, อ.รัตภูมิ 3,633 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,327 ราย, อ.นาทวี 1,639 ราย, อ.บางกล่ำ 1,546 ราย, อ.ระโนด 1,022 ราย, สทิงพระ 880 ราย, ควนเนียง 812 ราย, อ.นาหม่อม 621 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 372 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 82 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,331 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 813 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย

covidsouth25114

จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 228 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 45,452 ราย รักษาหายแล้ว 29,700 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 441 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 135 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 74 ราย, โรงพยาบาลสนามอำเภอ 354 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 449 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 34 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 148 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 115 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส-ดิอามาน รีสอร์ท 22 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน – โรงยิมบานา 13 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 87 ราย และ Home Isolation 608 ราย

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแยกตามรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 11,631 ราย, อ.ไม้แก่น 1,108 ราย, อ.ยะหริ่ง 3,548 ราย, อ.หนองจิก 4,464 ราย, อ.โคกโพธิ์ 2,773 ราย, อ.สายบุรี 5,509 ราย, อ.แม่ลาน 696 ราย, อ.ยะรัง 4,331 ราย, อ.ปะนาเระ 1,684 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 2,072 ราย, อ.มายอ 4,530 ราย และ อ.กะพ้อ 1,746 ราย

จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 17 ราย, อ.ตากใบ 10 ราย, อ.ยี่งอ 3 ราย, อ.แว้ง 1 ราย, อ.สุคิริน 3 ราย, อ.รือเสาะ 4 ราย, อ.บาเจาะ 10 ราย, อ.ระแงะ 10 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.เจาะไอร้อง 2 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 41,682 ราย รักษาหายสะสม 40,650 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 378 ราย

ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 8,289 ราย, อ.ระแงะ 4,840 ราย, อ.รือเสาะ 2,244 ราย, อ.บาเจาะ 3,610 ราย, อ.จะแนะ 1,761 ราย, อ.ยี่งอ 3,013 ราย, อ.ตากใบ 3,158 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,592 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,365 ราย, อ.ศรีสาคร 2,093 ราย, อ.แว้ง 2,298 ราย, อ.สุคิริน 1,189 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,230 ราย

จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 46,582 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย รักษาหายแล้ว 46,258 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 325 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 16,648 ราย, อ.เบตง 4,931 ราย, อ.รามัน 6,192 ราย, อ.ยะหา 5,503 ราย, อ.บันนังสตา 7,163 ราย, อ.ธารโต 2,369 ราย, อ.กาบัง 1,259 ราย และ อ.กรงปินัง 2,517 ราย

ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 86 ราย, โรงพยาบาลเบตง 68 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 248 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 127 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 116 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 115 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 28 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 0 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 54 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 5 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 7 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 20 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 43 ราย, Hospitel ยะลา 0 ราย, Hospitel เบตง 8 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 972 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 354 ราย

covidsouth25112

ที่บริเวณที่แยกโรงเรียนรัชตะวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา เทศบาลนครยะลาร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดย ผศ.ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ และคณะ ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำภายในเขตเทศบาล เพื่อตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 (รหัสพันธุกรรมของไวรัสโรคซาร์ และโควิด) ในน้ำเสีย โดยวิธี qRT-PCR ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำการวิจัยการเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัย (3-14 วัน) ล่วงหน้าจากการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในสถานที่สุ่มเสี่ยงและชุมชน ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays

ผศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุกที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ก่อนการระบาด สามารถลดความรุนแรงของการระบาดลงได้ โดยการตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 ในน้ำเสียโดย qRT-PCR หากพบเชื้อก็จะสามารถแจ้งเตือนก่อนการแพร่ระบาดได้ 3-14 วัน ซึ่งวิธีการนี้ได้ดำเนินการแล้วในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเริ่มดำเนินการในภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ตาก และนครสวรรค์

ส่วนในภาคใต้ เทศบาลนครยะลาได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อดำเนินการตรวจตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกจากรางระบายน้ำในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.64 เป็นต้นไป เพื่อเป็นข้อมูลให้สามารถทำการสืบสวนและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าหากตรวจพบสารพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย และสามารถพัฒนาเป็นแผนระดับองค์กรในการตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโควิดในรอบต่อไป ซึ่งการนำวิธีการนี้มาใช้จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกอื่นๆ ในอนาคตลดน้อยลง ลดความเสียหายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมได้

นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เป็นการหาซากเชื้อที่เกิดจากโควิด-19 มาทำการวิเคราะห์ เพื่อหาผู้ป่วยในวงกว้าง ซึ่งเราสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้ติดเชื้อประมาณกี่คนในชุมชนนี้หรือในบริเวณโดยรอบที่เราทำการตรวจหาเชื้อจากน้ำ จากนั้นจะนำไปสู่การตรวจ ATK หรือ PCR อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย สามารถประหยัดงบประมาณและสามารถพยากรณ์ได้ว่า ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 จะสามารถระบาดได้ประมาณกี่สัปดาห์จำนวนคนกี่คนที่จะติดเชื้อ โดยการคาดการณ์สามารถทราบล่วงหน้าประมาณ 5-7 วัน

เทศบาลนครยะลาเป็นแห่งแรกในภาคใต้ที่ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้อนุเคราะห์มาตรวจหาเชื้อซากโควิดในบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนซึ่งทางเทศบาลนครยะลาได้มีการลงพื้นที่ตรวจ 40 จุด เพื่อที่จะได้รู้พื้นที่ที่ชัดเจน เชื่อว่านวัตกรรมใหม่ในการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด จะช่วยให้เราได้คาดการณ์ล่วงหน้าและสามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างมีหลักการและทันกับสถานการณ์มากทีสุด

covidsouth25113

ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี บริเวณสนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี จัดกิจกรรม “SHA Clinic @ปัตตานี” โดยมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 40 ราย เช่น โรงแรม ภัตตาคาร/ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเรียนรู้และศึกษาข้อมูลยื่นขอตราสัญลักษณ์ SHA

ทาง ททท.ได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนและผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในการยื่นรับตราสัญลักษณ์ SHA และ SHA Plus จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยเป็นการนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว โดยมีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคที่กำหนดเป็นบรรทัดฐานของทุกสถานประกอบการ 3 องค์ประกอบ คือ 1.สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2.การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3.การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

น.ส.นวพร ชัวชมเกตุ ผอ.ททท.สำนักงานนราธิวาส กล่าวถึงขั้นตอนการสมัครและประโยชน์จากโครงการนี้ว่า ขั้นตอนในการลงทะเบียนสมัครไม่ยาก สามารถดาวน์โหลดแอปฯไทยชนะ และลงทะเบียนข้อมูลในเว็บไซต์พร้อมแนบภาพ เมื่อมีการประเมินและตรวจสอบผ่านจะได้รับโลโก้ SHA

สำหรับในพื้นที่ชายแดนใต้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมบ้าง เช่น การท่องเที่ยวชุมชน คนในชุมชนต้องได้รับการฉีดวัคซีน 70% ร้านค้าเล็กๆ หรือแผงลอยก็สามารถขอรับสัญลักษณ์และใบอนุญาตนี้ได้ เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นใจในการบริการ ไม่เสียโอกาสทางการตลาด เมื่อสมัครและแนบเอกสารครบ รอประมาณ 3-4 วัน ก็จะได้รับการตอบรับการตรวจสอบ เพราะขณะนี้มีร้านที่สมัครเข้ามาทั่วประเทศจำนวนมากเพื่อให้ผ่านมาตรฐานในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

ด้าน น.ส.วรรณา อาลีตระกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวปัตตานี ผู้จัดการฝ่ายขายและประชาสัมพันธ์โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี กล่าวว่า โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้เตรียมข้อมูลและภาพไว้พร้อม ขั้นตอนการสมัครก็ไม่ยาก ผู้ประกอบการในปัตตานีควรสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อความมั่นใจทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าในการเปิดรับการท่องเที่ยวมากขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

‘ม.นเรศวร’ เปิดตัวเตาเผาขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารายงานว่า ที่คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก เปิดตัวเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน รวมถึงสถานพยาบาลชุมชนและ อสม.ประจำบ้าน และพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน จากปัญหาแมสและขยะติดเชื้อที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร และวิทยาลัยพลังงานทดแทน ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันพัฒนาและใช้ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในการสร้างต้นแบบเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพื่อกรณีฉุกเฉินในการรองรับความต้องการของชุมชนในการเผาทำลายขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข โดยเตาเผาต้นแบบมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน

ดร.อุกฤต สมัครสมาน อาจารย์ประจำวิชาภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็ก ใช้เผาหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและชุดตรวจวัด ATK และขยะมูลฝอยติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มูลฝอยที่เป็นของเหลวจะหรือสารคัดหลั่ง มูลฝอยที่เป็นอวัยวะหรือชิ้นส่วนของอวัยวะ มูลฝอย ของมีคมติดเชื้อที่ใช้แล้ว มูลฝอยจากกระบวนการเก็บและเพาะเชื้อและมูลฝอยที่เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่มีชีวิตและภาชนะบรรจุ เป็นต้น

โดยออกแบบเป็นระบบเผาไหม้สองชั้นประสิทธิภาพสูงมีขนาดเล็ก ขนาด 30 กก/ชม และสามารถผลิตเองได้ง่าย ภายในเตา จะเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยใช้หลักกลศาสตร์เผาไหม้ (Combustion mechanism) และเผาไหม้ในสภาวะควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และเวลา อุณหภูมิการเผาไหม้ในห้องเผาที่ 1 อยู่ในช่วง 650-700 องศาเชลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาทำลายวัสดุอินทรีย์ และห้องเผาที่ 2 อยู่ในช่วง 800-850 องศาเซลเชียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาแก๊สเสียและมลพิษ มีการเติมอากาศด้วยโบลเวอร์ให้ปริมาณอากาศมากเกินพอ และมีระยะเวลาในการเผาไหม้อากาศเสียและมลพิษไม่น้อยกว่า 3 วินาที การควบคุมสภาวะของการเผาไหม้ภายในห้องเผาไหม้ที่ 1 และ 2 จะใช้เชื้อเพลิงเสริม คือ ถ่านไม้ และแก๊ส LPG ที่สำคัญตาเผาขยะอยู่ในงบประมาณไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มหาวิทยาลัยนเรศวรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เตาเผาขยะติดเชื้อจะช่วยลดขยะติดเชื้อ-แก้ปัญหามลพิษแสะ สามารถป้องกันและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 08-3835-3240 (ตร.อุกฤต สมัครสมาน) Email: ukrits_a@yahoo.com

ที่มา: dailynews

ประชุมเพื่อหารือแนวทางการคัดกรองนิสิตด้วยชุดตรวจ ATK ของนิสิตหอพัก ม.นเรศวร

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 16.00 น ณ ห้องประชุมนเรศวร 2 สนง.อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี นพ.สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล ผู้แทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และ นางศิริวรรณ กมลพัฒนะ ผอ.กองกิจการนิสิต ประชุมเพื่อหารือแนวทางการคัดกรองนิสิตด้วยชุดตรวจ ATK ของนิสิตหอพักมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการประชุมดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้พิจารณาสนับสนุนการตรวจคัดกรองสำหรับนิสิตหอพักทุกคนที่เดินทางกลับมาจากภูมิลำเนา โดยนิสิตที่ทำการตรวจครั้งแรก มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ให้จัดทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป รวมทั้งได้กำชับให้คณะต่างๆ ช่วย ปชส.และสอดส่องพฤติกรรมของนิสิตทุกชั้นปี ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฯ อย่างเคร่งครัดอีกด้วย

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์กองกิจการนิสิต

เสวนา “จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไรไม่เสี่ยงติดโควิด”

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย ขอเชิญผู้สื่อข่าวและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์ “จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไร ไม่เสี่ยงติดโควิด” วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 9.00 – 13.00 น. 

09.00-10.00 น. SARS-Cov-2 สายพันธุ์ต่างๆ การติดเชื้อผ่านละอองฝอยในอากาศ และการจัดการน้ำทิ้งและระบบถ่ายเทอากาศสำหรับครัวเรือนและโรงพยาบาลสนาม โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และ พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์

10.00-10.45 น. SARS-CoV-2 บนพื้นผิว : รับกล่องพัสดุ การทำความสะอาดเสื้อผ้า และพื้นผิวอาคารบ้านเรือนอย่างไรให้ไกลโควิด-19 โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ และ ดร.ศิริวรรณ วิชัย

10.45-11.30 น. ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยแต่ละชนิด การล้างมือที่ถูกวิธี และการใช้ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) โดย พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์ และ รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล

11.30-12.00 น. การจัดการขยะครัวเรือนให้ห่างไกลการแพร่เชื้อ SARS-Cov-2 โดย ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา

12.00-12.15 น. การเสวนาหัวข้อ แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมในและนอกที่พักอาศัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ SARS-CoV-2 โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์, ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา, พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์, ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์, รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล และ ดร.ศิริวรรณ วิชัย

12.15-12.35 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น / ถาม-ตอบ

12.35-12.45 น. กล่าวปิดการประชุม  โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์

ดำเนินรายการ

โดย อุดมเดช เกตุแก้ว เลขานุการชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม / หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ

จัดโดย

  • สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ห้องปฏิบัติการระบาดวิทยาน้ำเสียเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)
  • ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม 

คลิกรับแจ้งเตือนจาก Facebook Live เพื่อไม่พลาดเวทีเสวนาออนไลน์ ที่ (https://fb.me/e/4iazlwAE1) หรือรับชม Live บนเพจ

https://www.facebook.com/thaisej
https://www.facebook.com/greennewsagency
https://www.facebook.com/WBEEarlyWarningLab
https://www.facebook.com/SHEI.COE.NU

เสวนาออนไลน์ประเด็นจัดการสิ่งแวดล้อมฯ มีเวทีทั้งหมด 2 ครั้ง โดยจะจัดอีกครั้ง วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 10.00 – 13.00 น. “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://greennews.agency/?p=25309

ที่มา: greennews

เสวนา “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย ขอเชิญผู้สื่อข่าวและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์ “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 10.00 – 13.00 น.

10.00 – 10.45 น. ทฤษฎีและตัวอย่างการใช้งานการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกเพื่อการเฝ้าระวังเชิงรุกการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในชุมชนในต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

10.45-11.15 น. การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกด้วย RT-qPCR
โดย รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล และ ดร.พญ.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์

11.15-11.45 น. การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays และ ศักยภาพการใช้กับน้ำเสียโสโครก โดย ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย

11.45-12.15 น. มาตรการความปลอดภัยในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียและการทำงานในห้องปฏิบัติการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกด้วย RT-qPCR โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ และ
ดร.ศิริวรรณ วิชัย

12.15-12.30 น. แนวคิดการใช้งานการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกเพื่อการเฝ้าระวังเชิงรุก, การสืบสวนเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า, และการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนและมาตรการตอบโต้การแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในชุมชนสำหรับประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

12.30-12.50 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น / ถาม-ตอบ

12.50-13.00 น. กล่าวปิดการเสวนา โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

ดำเนินรายการ

โดย พนม ทะโน กรรมการบริหารชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม / IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

จัดโดย

  • สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ห้องปฏิบัติการระบาดวิทยาน้ำเสียเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)
  • ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

คลิกอีเวนต์เพื่อแจ้งเตือนจาก Facebook Live (https://fb.me/e/10GiiZNN0) รับชม Live บนเพจ

https://www.facebook.com/WBEEarlyWarningLab
https://www.facebook.com/SHEI.COE.NU
https://www.facebook.com/greennewsagency
https://www.facebook.com/thaisej


เสวนาออนไลน์ประเด็นจัดการสิ่งแวดล้อมฯ มีเวทีทั้งหมด 2 ครั้ง เวทีดังกล่าวนับเป็น(รอบสอง) ติดตามเวที“จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไร ไม่เสี่ยงติดโควิด” (รอบแรก) หรือรับชมไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ https://greennews.agency/?p=25267

ที่มา: greennews

บุคลากรกองกิจการนิสิต ม.นเรศวร ได้รับเกียรติบัตรวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2564

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 นางรจนา แดงแสงทอง ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้ารับเกียรติบัตรเป็นบุคคลที่มีผลงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดดีเด่น ประจำปี 2564 จากนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดพิษณุโลก เนื่องในวันจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2564 (26 มิถุนายน 2564) ณ ศาลาประชาคมจังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin