วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ การลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันสมาชิกของที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 25 สถาบันเข้าร่วม มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เป็นประธาน และ ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ ประธาน ทคบร. และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพยานลงนาม
ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์เปิดเผยว่า อว. มีภารกิจหลักสำคัญ 3 ด้าน คือ การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ภายในระยะเวลา 2 ปีเศษหลังการจัดตั้งกระทรวง อว. ได้พัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคที่เคยเป็นมาของมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด อาทิ การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศของแต่ละแห่ง การปลดล็อกระยะเวลาสูงสุดในการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าของอาจารย์ โดยเพิ่ม 5 ช่องทางในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น
ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าวต่อไปว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของระบบการอุดมศึกษาไทย ที่เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบของอธิการบดีทั้ง 25 สถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องยากอย่างมาก แต่วันนี้เราสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ถือเป็นการนำนโยบายของ อว. ในด้านระบบคลังหน่วยกิตและการใช้ทรัพยากรร่วมกันมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษาที่ควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ให้พวกเขามีโอกาสเสาะแสวงหาความรู้ตามรายวิชาที่ตนสนใจ และได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากมหาวิทยาลัยที่ต่างก็มีของดีและความเป็นเลิศที่แตกต่างกัน ขณะที่มหาวิทยาลัยยังได้รับประโยชน์จากการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นการสนธิกำลังกันให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในก้าวต่อไป
ด้าน ศ.ดร.พญ.พัชรีย์กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจ 25 สถาบันการศึกษา มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ด้วยการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบัน และสามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรที่นักศึกษากำลังศึกษาได้ รวมทั้งสามารถนำไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการสังคมแก่นิสิต นักศึกษา
สำหรับสถาบันการศึกษา 25 แห่งที่สามารถลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้ ประกอบด้วย
โดยนิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปสามารถศึกษารายละเอียดการลงทะเบียนข้ามสถาบัน และรายวิชาที่เปิดรับลงทะเบียนได้ที่ https://graduate.mahidol.ac.th/cgau/courses.php
ที่มา: THE STANDARD
“การมีระบบฐานข้อมูลที่ดีช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน ไม่ต้องทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดภาระงานเอกสาร มีเวลาจัดเตรียมการเรียนการสอนได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทำให้เกิดความรวดเร็ว เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทำงานได้ดี โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”
นุตประวีณ์ ภัครวัฒน์อังกูร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มต้นเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้สนับสนุนการบริหาร การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งภารกิจสำคัญอย่างการติดตามเด็กกลับมาเรียน สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงนี้
หลังจากที่เข้าไปร่วมอบรมและนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้ สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือ จากการเขียนเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ ป.พ. ที่เดิมครูต้องเขียนเอง แต่ระบบนี้ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ต้องมานั่งเขียนเอง แต่พิมพ์ออกมาจากระบบได้เลย อีกด้านหนึ่งยังเห็นข้อมูลเด็กในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ ที่เชื่อมโยงกับระบบ CCT
จุดเด่นของระบบนี้คือ ครูมีข้อมูลที่ช่วยกันจัดเก็บแบบเรียลไทม์ ทั้งข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน ไปจนถึงอัตราการเข้าเรียนและผลการเรียน ทำให้ผู้บริหารสามารถเข้าไปเช็กได้เลยว่านักเรียนคนไหนขาดเรียนบ่อยแค่ไหน หรือเด็กคนไหนกำลังมีปัญหาในการเรียนที่จุดใด ก็จะสามารถรู้ได้ทันที ช่วยให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีเด็กที่ขาดเรียนไปเป็นสัปดาห์ เมื่อทราบเรื่องก็ติดต่อสอบถามไปยังผู้ปกครองว่านักเรียนขาดเรียนไปไหน หรือถ้าติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ก็ประสานไปยังผู้ใหญ่บ้านว่าครอบครัวนี้ยังอยู่ในพื้นที่หรือย้ายไปไหน เพื่อช่วยติดตามให้เขากลับมาเรียนได้ตามปกติ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะมีเด็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนจึงปรับให้เรียนแบบออนแฮนด์ มารับใบงานไปทำที่บ้านแล้วนำมาส่ง ครูจะคอยติดตามไม่ให้เด็กขาดหายไปในช่วงนี้ และเมื่อถึงช่วงเปิดโรงเรียนได้ปกติ ก็จะคอยติดตามอีกรอบว่ามีเด็กคนไหนยังไม่กลับมาเรียน
“เปิดเทอมมาตั้งแต่ 1 ธันวาคม ตอนนี้เด็กกลับมาเรียนเกือบครบ 100% จะมีบ้างที่นักเรียนไม่สบาย เราก็ให้นักเรียนรักษาตัวอยู่บ้านให้หายดีก่อนค่อยมาเรียน ขณะที่นักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมาจากต่างพื้นที่ก็ให้กักตัวอยู่บ้านก่อน 2 สัปดาห์ แล้วก่อนมาเรียนก็ให้ตรวจสอบก่อน ถ้าปกติถึงจะให้เข้ามาเรียนได้ โดยสถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด”
ส่วนมาตรการรองรับหลังเปิดเทอมก็ถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ผอ.นุตประวีณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเรียนทั้งออนไลน์และออนแฮนด์ที่ผ่านมา อาจทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับความรู้เต็มที่เหมือนกับเรียนที่โรงเรียน ช่วงที่กลับมาเรียนอีกครั้ง จึงต้องมีการเรียนซ่อมเสริมให้นักเรียน
“ครูจะเป็นคนสำรวจว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนตรงไหน เด็กเล็กๆ หลายคนช่วงที่เรียนที่บ้านนานๆ จะทำให้เขาอ่านเขียนได้น้อยลง ครูก็จะไปสอนเสริมให้เขาก่อน เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะที่เด็กคนไหนที่เรียนทัน ครูก็ต้องเพิ่มเนื้อหาที่แอดวานซ์ให้เขาได้พัฒนา ต้องยอมเหนื่อยขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์เรียนรู้ได้ดีขึ้น จากในวง PLC เราจะรับรู้ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูของแต่ละคนที่เสียสละทุ่มเทเพื่อเด็กๆ”
โรงเรียนบ้านราหุลได้นำกระบวนการของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาเข้ามาใช้ โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมครู ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการทำงานไปจนถึงการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
เมื่อครูเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เด็กรู้จักคิด ครูเริ่มใช้โทนเสียงที่ต่ำ ไม่ใช้การสั่งแต่เปลี่ยนเป็นการพูดคุยเสนอแนะ ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น
“ระยะเวลาแค่ 3 เดือนแรกเราก็เห็นผลความเปลี่ยนแปลง จากการใช้จิตศึกษาเข้ามาช่วยให้นักเรียนรู้จักกำกับตัวเอง จนตอนนี้ช่วงเข้าแถวตอนเช้า แทบไม่ได้ยินเสียงนักเรียนคุยกัน จากแต่ก่อนที่เสียงจ้อกแจ้กวุ่นวาย
“รูปแบบนี้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนของครูก่อน ซึ่งครูทั้งโรงเรียนก็พร้อมใจกันเปลี่ยน บางคนตอนแรกอาจจะต่อต้านบ้าง คิดว่าเดี๋ยวจะเกษียณอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเปลี่ยน แต่พอครูคนอื่นเริ่มเปลี่ยน และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครูที่ยังไม่เปลี่ยนก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ”
ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
วันพฤหัสดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา จำนวนผู้ที่เชื้อยังทรงตัวในทุกจังหวัด มีเพียง จ.นราธิวาส ที่ผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างมากเหลือเพียงแค่ 69 ราย และไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตต่อเนื่องเป็นเวลา 8 วันแล้ว
ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของสามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 25 พ.ย.64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ไม่รวมผู้ต้องขังในเรือนจำ) อยู่ที่ 191,530 ราย
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 938 ราย และเสียชีวิต 6 ศพ แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 470 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 60,444 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 60,421 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,889 ราย รักษาหายแล้ว 54,302 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 253 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5,266 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 14,241 ราย, อ.เมืองสงขลา 8,001 ราย, อ.จะนะ 7,882 ราย, อ.สิงหนคร 5,048 ราย, อ.สะเดา 4,605 ราย, อ.เทพา 4,566 ราย, อ.รัตภูมิ 3,633 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,327 ราย, อ.นาทวี 1,639 ราย, อ.บางกล่ำ 1,546 ราย, อ.ระโนด 1,022 ราย, สทิงพระ 880 ราย, ควนเนียง 812 ราย, อ.นาหม่อม 621 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 372 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 82 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,331 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 813 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 228 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 45,452 ราย รักษาหายแล้ว 29,700 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 441 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 135 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 74 ราย, โรงพยาบาลสนามอำเภอ 354 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 449 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 34 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 148 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 115 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส-ดิอามาน รีสอร์ท 22 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน – โรงยิมบานา 13 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 87 ราย และ Home Isolation 608 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแยกตามรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 11,631 ราย, อ.ไม้แก่น 1,108 ราย, อ.ยะหริ่ง 3,548 ราย, อ.หนองจิก 4,464 ราย, อ.โคกโพธิ์ 2,773 ราย, อ.สายบุรี 5,509 ราย, อ.แม่ลาน 696 ราย, อ.ยะรัง 4,331 ราย, อ.ปะนาเระ 1,684 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 2,072 ราย, อ.มายอ 4,530 ราย และ อ.กะพ้อ 1,746 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 17 ราย, อ.ตากใบ 10 ราย, อ.ยี่งอ 3 ราย, อ.แว้ง 1 ราย, อ.สุคิริน 3 ราย, อ.รือเสาะ 4 ราย, อ.บาเจาะ 10 ราย, อ.ระแงะ 10 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.เจาะไอร้อง 2 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 41,682 ราย รักษาหายสะสม 40,650 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 378 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 8,289 ราย, อ.ระแงะ 4,840 ราย, อ.รือเสาะ 2,244 ราย, อ.บาเจาะ 3,610 ราย, อ.จะแนะ 1,761 ราย, อ.ยี่งอ 3,013 ราย, อ.ตากใบ 3,158 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,592 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,365 ราย, อ.ศรีสาคร 2,093 ราย, อ.แว้ง 2,298 ราย, อ.สุคิริน 1,189 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,230 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 46,582 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย รักษาหายแล้ว 46,258 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 325 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 16,648 ราย, อ.เบตง 4,931 ราย, อ.รามัน 6,192 ราย, อ.ยะหา 5,503 ราย, อ.บันนังสตา 7,163 ราย, อ.ธารโต 2,369 ราย, อ.กาบัง 1,259 ราย และ อ.กรงปินัง 2,517 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 86 ราย, โรงพยาบาลเบตง 68 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 248 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 127 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 116 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 115 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 28 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 0 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 54 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 5 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 7 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 20 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 43 ราย, Hospitel ยะลา 0 ราย, Hospitel เบตง 8 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 972 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 354 ราย
ที่บริเวณที่แยกโรงเรียนรัชตะวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา เทศบาลนครยะลาร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดย ผศ.ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ และคณะ ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำภายในเขตเทศบาล เพื่อตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 (รหัสพันธุกรรมของไวรัสโรคซาร์ และโควิด) ในน้ำเสีย โดยวิธี qRT-PCR ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำการวิจัยการเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัย (3-14 วัน) ล่วงหน้าจากการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในสถานที่สุ่มเสี่ยงและชุมชน ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays
ผศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุกที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ก่อนการระบาด สามารถลดความรุนแรงของการระบาดลงได้ โดยการตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 ในน้ำเสียโดย qRT-PCR หากพบเชื้อก็จะสามารถแจ้งเตือนก่อนการแพร่ระบาดได้ 3-14 วัน ซึ่งวิธีการนี้ได้ดำเนินการแล้วในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเริ่มดำเนินการในภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ตาก และนครสวรรค์
ส่วนในภาคใต้ เทศบาลนครยะลาได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อดำเนินการตรวจตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกจากรางระบายน้ำในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.64 เป็นต้นไป เพื่อเป็นข้อมูลให้สามารถทำการสืบสวนและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าหากตรวจพบสารพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย และสามารถพัฒนาเป็นแผนระดับองค์กรในการตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโควิดในรอบต่อไป ซึ่งการนำวิธีการนี้มาใช้จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกอื่นๆ ในอนาคตลดน้อยลง ลดความเสียหายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมได้
นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เป็นการหาซากเชื้อที่เกิดจากโควิด-19 มาทำการวิเคราะห์ เพื่อหาผู้ป่วยในวงกว้าง ซึ่งเราสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้ติดเชื้อประมาณกี่คนในชุมชนนี้หรือในบริเวณโดยรอบที่เราทำการตรวจหาเชื้อจากน้ำ จากนั้นจะนำไปสู่การตรวจ ATK หรือ PCR อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย สามารถประหยัดงบประมาณและสามารถพยากรณ์ได้ว่า ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 จะสามารถระบาดได้ประมาณกี่สัปดาห์จำนวนคนกี่คนที่จะติดเชื้อ โดยการคาดการณ์สามารถทราบล่วงหน้าประมาณ 5-7 วัน
เทศบาลนครยะลาเป็นแห่งแรกในภาคใต้ที่ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้อนุเคราะห์มาตรวจหาเชื้อซากโควิดในบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนซึ่งทางเทศบาลนครยะลาได้มีการลงพื้นที่ตรวจ 40 จุด เพื่อที่จะได้รู้พื้นที่ที่ชัดเจน เชื่อว่านวัตกรรมใหม่ในการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด จะช่วยให้เราได้คาดการณ์ล่วงหน้าและสามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างมีหลักการและทันกับสถานการณ์มากทีสุด
ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี บริเวณสนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี จัดกิจกรรม “SHA Clinic @ปัตตานี” โดยมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 40 ราย เช่น โรงแรม ภัตตาคาร/ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเรียนรู้และศึกษาข้อมูลยื่นขอตราสัญลักษณ์ SHA
ทาง ททท.ได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนและผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในการยื่นรับตราสัญลักษณ์ SHA และ SHA Plus จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยเป็นการนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว โดยมีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคที่กำหนดเป็นบรรทัดฐานของทุกสถานประกอบการ 3 องค์ประกอบ คือ 1.สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2.การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3.การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
น.ส.นวพร ชัวชมเกตุ ผอ.ททท.สำนักงานนราธิวาส กล่าวถึงขั้นตอนการสมัครและประโยชน์จากโครงการนี้ว่า ขั้นตอนในการลงทะเบียนสมัครไม่ยาก สามารถดาวน์โหลดแอปฯไทยชนะ และลงทะเบียนข้อมูลในเว็บไซต์พร้อมแนบภาพ เมื่อมีการประเมินและตรวจสอบผ่านจะได้รับโลโก้ SHA
สำหรับในพื้นที่ชายแดนใต้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมบ้าง เช่น การท่องเที่ยวชุมชน คนในชุมชนต้องได้รับการฉีดวัคซีน 70% ร้านค้าเล็กๆ หรือแผงลอยก็สามารถขอรับสัญลักษณ์และใบอนุญาตนี้ได้ เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นใจในการบริการ ไม่เสียโอกาสทางการตลาด เมื่อสมัครและแนบเอกสารครบ รอประมาณ 3-4 วัน ก็จะได้รับการตอบรับการตรวจสอบ เพราะขณะนี้มีร้านที่สมัครเข้ามาทั่วประเทศจำนวนมากเพื่อให้ผ่านมาตรฐานในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ด้าน น.ส.วรรณา อาลีตระกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวปัตตานี ผู้จัดการฝ่ายขายและประชาสัมพันธ์โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี กล่าวว่า โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้เตรียมข้อมูลและภาพไว้พร้อม ขั้นตอนการสมัครก็ไม่ยาก ผู้ประกอบการในปัตตานีควรสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อความมั่นใจทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าในการเปิดรับการท่องเที่ยวมากขึ้น
ที่มา: สำนักข่าวอิศรา
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศาสตารจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับภาคีเครือข่าย จำนวน 12 หน่วยงาน ในพิธีลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ ห้องประชุมพระพุทธชินราช ชั้น 7 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก (หลังใหม่)
สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว ดร.กิตติ สัจจา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ได้กล่าวว่า โครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐกว่า 12 หน่วยงาน ที่จะร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการและกลไกของหน่วยงานนำไปสู่การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดพิษรูโลกอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนร่วมกันของทุกภาคส่วน นับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการบูรณาการช่วยเหลือคนจนอย่างตรงจุด
สำหรับจังหวัดพิษณุโลกคณะผู้วิจัยได้ค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจน จำนวน 24,000 ข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอ จากนั้น ดำเนินการสร้างนวัตกรรมแก้จนที่เหมาะสมกับบริบทและคนจนเป้าหมาย โดยทุนศักยภาพ 5 มิติ ประกอบด้วย ทุนสังคม ทุนมนุษย์ ทุนทางกายภาพ ทุนทางการเงิน และทุนธรรมชาติ นำมาสู่การวิเคราะห์เชิงคุณภาพเชื่อมโยงบริบท เพื่อการสร้างนวัตกรรมแก้จนที่สอดคล้องกับบริบทและคนจนเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายคนจนในพื้นที่ 2 อำเภอ ๆ ได้แก่ ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ และตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง รวมเป็น 2,000 คน ทั้งนี้คนจนได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 10%
ด้วยกระบวนการสร้างนักจัดการข้อมูลชุมชน และภาคีเครือข่ายในชุมชน สามารถติดตามสถานะคนจนให้เป็นปัจจุบัน จัดทำข้อมูลให้มีชีวิต ส่งต่อและประสานความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดระบบความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสานพลังขับเคลื่อนจากวัด ทหาร หน่วยงาน และชุมชน หนุนเสริมทักษะอาชีพ ทักษะการใช้ชีวิตของครัวเรือนยากจน การบูรณาการสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสม ทั้งนี้การพัฒนาภาคีเครือข่ายด้วยนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพิษณุโลกแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จะเป็นการสานพลังที่จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาให้คนพิษณุโลกหลุดพ้นจากความยากจน สามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ที่มา: ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยนเรศวร
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย ขอเชิญผู้สื่อข่าวและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์ “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 10.00 – 13.00 น.
10.00 – 10.45 น. ทฤษฎีและตัวอย่างการใช้งานการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกเพื่อการเฝ้าระวังเชิงรุกการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในชุมชนในต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
10.45-11.15 น. การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกด้วย RT-qPCR
โดย รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล และ ดร.พญ.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์
11.15-11.45 น. การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays และ ศักยภาพการใช้กับน้ำเสียโสโครก โดย ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย
11.45-12.15 น. มาตรการความปลอดภัยในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียและการทำงานในห้องปฏิบัติการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกด้วย RT-qPCR โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ และ
ดร.ศิริวรรณ วิชัย
12.15-12.30 น. แนวคิดการใช้งานการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกเพื่อการเฝ้าระวังเชิงรุก, การสืบสวนเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า, และการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนและมาตรการตอบโต้การแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในชุมชนสำหรับประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
12.30-12.50 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น / ถาม-ตอบ
12.50-13.00 น. กล่าวปิดการเสวนา โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
ดำเนินรายการ
โดย พนม ทะโน กรรมการบริหารชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม / IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
จัดโดย
คลิกอีเวนต์เพื่อแจ้งเตือนจาก Facebook Live (https://fb.me/e/10GiiZNN0) รับชม Live บนเพจ
https://www.facebook.com/WBEEarlyWarningLab
https://www.facebook.com/SHEI.COE.NU
https://www.facebook.com/greennewsagency
https://www.facebook.com/thaisej
เสวนาออนไลน์ประเด็นจัดการสิ่งแวดล้อมฯ มีเวทีทั้งหมด 2 ครั้ง เวทีดังกล่าวนับเป็น(รอบสอง) ติดตามเวที“จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไร ไม่เสี่ยงติดโควิด” (รอบแรก) หรือรับชมไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ https://greennews.agency/?p=25267
มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sun Thailand) ครั้งที่ 2/2563 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี, ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งการจัดเครือข่าย SUN ในครั้งนี้ มีแนวคิดพัฒนาในเรื่องของกายภาพและเรื่องอื่นๆ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน มีความสวยงาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีการจัดกิจกรรมพาตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มาร่วมงาน ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมความยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาทิ ศึกษาดูงานด้านการจัดการอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัย เยี่ยมชมสถานีรถไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน สถานีบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งศึกษาดูงานศูนย์คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ปี 2563 (SUN Thailand) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นอกจากที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆแล้ว ตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศยังได้มี แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนให้ SUN Thailand ก้าวไปข้างหน้า คือการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืน ทั้งการรณรงค์ในเรื่องของขยะ ระดมสมองในการออกแบบและวางแผนเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนในการลดขยะโดยใช้เวลาและงบประมาณที่น้อยลง มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมคิดและถอดบทเรียนที่จะนำไปสู่แนวทาง ในการเริ่มต้นทำงานเพื่อความยั่งยืน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและ ชุมชน โดยใช้หลักการที่เป็นความรู้ท้องถิ่น นำหลักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ความยั่งยืน (SEP for SDGs ) นำความสามารถที่มีอีกทั้งแนวคิดที่ได้ไปตอบโจทย์ประเทศ (ปฏิญญาวังจันทน์)
เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ยกระดับบทบาทภารกิจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของนโยบายความยั่งยืนและเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล นำไปสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของทุกภาคส่วนภายในสังคมของประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 มหาวิทยาลัยและอยู่ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับฉันทามติได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานเครือข่าย มหาวิทยาลัยยั่งยืน แห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 (Sustainable University Network of Thailand) พ.ศ.2562
ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้ใช้การทอผ้าในการหารายได้อย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ในชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การปลูกเมล่อน บางกลุ่มที่ตั้งครัวเรือนริมแม่น้ำ ก็มีอาชีพเสริมเป็นการเลี้ยงปลากดคัง โดยมีทั้งเป็นเจ้าของกระชังปลาเอง และเป็นลูกจ้างดูแลกระชังปลา
กองส่งเสริมการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จึงเล็งเห็นโอกาส ในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ โดยสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านการกระตุ้นให้คนกลับเข้ามาทำงานในชุมชน โดยอาศัยชุมชนเป็นฐานการผลิตและฐานการเรียนรู้ร่วมกัน จนออกมาเป็น “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพงานฝีมือตัดเย็บกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า สร้างโอกาสการจ้างงานในชุมชน ตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก”
โดยโครงการฯ ได้เฟ้นหากลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลสนามคลี โดยมีจุดประสงค์ของโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทักษะการตัดเย็บอยู่บ้างแล้ว ได้พัฒนาฝีมือ ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้ว่างงานในชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกชุมชน
โดยโครงการจะดำเนินการผ่านความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในสายอาชีพนี้อยู่แล้ว มาช่วยให้คำแนะนำ ทว่า ตัวกลุ่มเองก็ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง เช่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่หลากหลายและมีความร่วมสมัยมากพอ คณะทำงานจึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในด้านนี้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ด้วยการวิเคราะห์ผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้น คณะทำงานจะปรับกระบวนการทำงานให้เข้าสู่การผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในรูปแบบมินิมัล (minimal) กล่าวคือ มีความเรียบง่ายแต่เรียบหรู ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตกันมาตั้งแต่สมัยก่อน อาทิ ถุงผ้าสวมแก้วเยติ ย่ามรูปแบบใหม่ และหมวกผ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้ โดยจะกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการกระจายสินค้า เช่น การสร้างเพจหรือเว็บไซต์ของกลุ่ม เป็นต้น
เพราะหากมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีช่องทางการจำหน่ายที่ทัดเทียมกัน ความลื่นไหลของการกระจายสินค้าก็อาจหยุดชะงักได้
อย่างไรก็ดี สุดท้ายนี้ คณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อกลุ่มเป้าหมายพัฒนาขึ้นตามลำดับกระบวนการข้างต้นแล้ว จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และนำไปสู่การจ้างงานภายในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยปูพื้นฐานให้กลุ่มเป้าหมาย มีทักษะในการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันได้อีกด้วย
คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้
ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
วันที่ 26 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมสร้างความเข้าใจการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาต้นแบบ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 22 จังหวัดร่วมประชุม โดยระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนี้ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้บุคลากรทางการศึกษาได้ประเมินและคัดกรองเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นปัจจัยการพิจารณาข้อมูลในการรับทุนการศึกษา ที่ช่วยลดภาระของครอบครัวที่ยากจน และเด็กทุกคนยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาโดยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านของสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว สุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลด้านพฤติกรรม รวมถึงการประเมินภาวะด้านอารมณ์หรืออีคิว
ดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์สกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทราบถึงพฤติกรรมเชิงลึกของนักเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต้องดูแลอย่างไร และเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทราบข้อมูลของนักเรียนไปจนถึงครอบครัวอย่างรอบด้าน ทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงจากการเดินทาง ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของเด็กนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กได้ พร้อมกันนี้ยังทำให้เกิดการวางแผนแก้ไขปัญหาที่มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ถึงการทำงานของ กสศ.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนไทย ว่า แม้ว่าหน่วยงานนี้จะได้รับการจัดตั้งมาในปี 2561 หรือเกือบ 3 ปี แต่สิ่งที่ได้เห็นคือ การทำงานที่จริงจัง เกิดเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยากจนได้มาก อีกทั้งในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น มองว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด คือการให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่การศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่การเข้ามาเรียนในโรงเรียนและจบไปตามช่วงชั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของเด็ก ก็จะไม่สามารถป้อนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นไปในรูปแบบของการคัดกรอง ตามระบบ ให้เกิดการดูแลช่วยเหลือตามระบบของโรงเรียนและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเด็กนักเรียนต่อไป
ส่วน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการทำงานเยี่ยมบ้านของนักเรียนตามระบบการคัดกรองเด็กยากจนอย่างมีเงื่อนไข หรือ CCT ทำให้มีข้อมูลคุณภาพที่สูงขึ้น ได้เห็นสภาพปัญหาครอบครัวที่แท้จริง ทำให้ได้เห็นว่ามิติของการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนยากจน ไม่ได้มีปัจจัยมาจากมิติของเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียว แต่การจะลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จะต้องขยายฐานการให้ความช่วยเหลือดูแลเชื่อมโยงกับระบบการคัดกรองให้เป็นระบบเดียวกันครบทุกมิติ ให้ครูได้รับทราบถึงปัญหาความยากจนของเด็กพร้อมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆไปในครั้งเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ผู้ปกครองจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแก่ครู เพื่อให้ครูจะนำไปดูแลนักเรียนในโรงเรียนเป็นรายคน สามารถปิดช่องโหว่และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน แต่หากเกินกำลังที่โรงเรียนหรือครูจะดูแลได้ ก็นำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางต่อไป ดังนั้นการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือกับเด็กนักเรียนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
ดร.ไกรยศ กล่าวอีกว่า โดยการทำงานของ กสศ. กับ สพฐ. และมหาวิทยาลัยนเรศวรครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเด็กหลายคนมีความตั้งใจการเรียนมาก แต่ก็ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมาเป็นเสาหลักของครอบครัว มาดูแลสมาชิกในบ้านที่อาจจะป่วยติดบ้านหรือติดเตียง หรือผู้ปกครองอยู่ภาวะที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ เพื่อปลดพันธนาการต่างๆให้กับเด็กได้มีสมาธิและตั้งใจกับการเรียนอย่างเต็มที่ และจะให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป ช่วยให้มีกำลังใจในการศึกษาที่ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งระบบนี้ก็จะเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบให้มีการขยายร่วมมือกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่นำไปใช้ในโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ร่วมกันด้วย
ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบสารสนเทศที่เข้ามาใหม่ จะช่วยการทำงานของครูในสองประเด็น คือ 1. ระบบนี้มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นของ สพฐ. และ กสศ. เช่น CCT หรือ DMC ให้เข้ามาในระบบ ทำให้ครูไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนสามารถดึงข้อมูลเดิมมาได้ทันที 2. คือระบบการทำงานเดิมไม่มีระบบสารสนเทศ ที่รวบรวมมาจากโรงเรียนต่าง ๆได้เลย หากมีข้อมูลนี้จะทำให้การรวบรวมข้อมูลสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นที่ตัวเด็กนักเรียน เพราะเป็นระบบที่ครูจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่จะพิจารณาความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และยังมีระบบการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังความเสี่ยง หากเด็กนักเรียนขึ้นสัญลักษณ์สีแดงก็เป็นการเตือนได้ว่าครูจะเข้าไปหาเด็กนักเรียนคนไหน และสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเห็นได้จนถึงเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะทำให้พิจารณาในการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน
ดร.วรลักษณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามได้วางแผนนะยะเวลาของกระบวนการไว้โดยคร่าวๆ คือ ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะวางแผนให้เริ่มมีการคัดเลือกหาโรงเรียนที่สมัครใจเป็นพื้นที่นำร่อง ในเดือน เม.ย.จะเริ่มสอนไปยังเขตพื้นที่ที่สมัครและโรงเรียนที่เข้าสมัครร่วมทดลองใช้ระบบ จากนั้นในเดือน พ.ค. – มิ.ย.จะทดลองในเป็นระยะเวลาสองเดือน คาดว่าจะนำไปสู่ภาพใหญ่มีการใช้งานจริงได้ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้ ส่วนตัวคาดหวังว่า หากระบบนี้นำไปใช้ในทุกโรงเรียนทำเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเด็กของตนเองได้ มีการส่งข้อมูลต่อเนื่อง เก็บประวัติในทุกปี ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะสามารถเห็นประวัติเด็กอย่างต่อเนื่อง ระบบจะเข้าไปสู่ระบบสารสนเทศ และจะส่งผลไปถึงภาพรวมของประเทศที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนกำลังประสบปัญหาด้านใด เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายในภาพใหญ่ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย เพราะระบบนี้จะมีการดูแลเป็นรายบุคคล
ทั้งนี้ ดร.วิมพ์วิภา รักสม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาจังหวัด พังงา ภูเก็ต ระนอง ระบุถึงข้อเสนอแนะจากการใช้งานระบบสารสนเทศ ว่า ระบบดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งนักเรียน ที่ใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา รวมถึงกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษาโดยไม่ทิ้งไว้ใครไว้ข้างหลัง มีประโยชน์สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาคือทำให้ได้เห็นข้อมูลในภาพรวมว่าแต่ละพื้นที่เด็กนักเรียนมีปัญหาความเสี่ยงในด้านใด เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนนั้นตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ที่มา: สำนักข่าวอิศรา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์ นำชมสวนมะยงชิดตัวอย่างในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดการองค์ความรู้ตั้งแต่การเตรียมปลูก การกำจัดแมลงและศัตรูพืช จัดการระบบหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปสร้างเอกลักษณ์ให้ดึงดูดใจ พร้อมจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออก แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และคณะ ได้แก่ ดร.นุชนาถ ภักดี และ นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ สวนใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้จากโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สำหรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์นั้น ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูก และการดูแลตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม (Ca) – โบรอน (B) การศึกษาจำนวนผลต่อต้นที่เหมาะสม
ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลโดยตรงคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มคุณภาพทางเคมีของผลผลิต เช่น รสชาติ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ
ระหว่างปลูกมีระยะที่ต้องเฝ้าระวังคือ ระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกโรย และช่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อราและกลุ่มแมลงปากดูด โดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะยงชิด และยังมีโรคและแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของมะยงชิด ได้แก่ โรคราดำ แมลงวันผลไม้ ด้วงงวงกัดใบมะยงชิด ด้วงเจาะลำต้นมะยงชิดและแมลงค่อมทอง จึงต้องควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนการเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวนั้นนักวิจัยแนะนำให้ใช้สาร 1-เมธิลไซโคลโพรพีน (1-Methylcyclopropene) เคลือบผิวมะยงชิด ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา
และยังมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปมะยงชิดโดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะยงชิด โดยการจัดเสวนาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลางและกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็น 1 ใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย วช. ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนมะยงชิดใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564
ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร
Sustainability